แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีก่อน อ. ได้ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นจำเลยที่ 3 ต่อศาลชั้นต้นเรียกเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่สั่งซื้อมาใช้ในกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนฯ ในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย ให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความ ให้แก่ อ. เมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว จึงมาฟ้องไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นคดีนี้ ให้ร่วมกันชำระหนี้ค่าดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความและค่าขึ้นศาล อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ จนกระทั่งโจทก์ถูก อ. ฟ้องเป็นคดีก่อน ซึ่งในคดีก่อนโจทก์ให้การต่อสู้คดีในสาระสำคัญว่า การสั่งซื้อสินค้าจาก อ. เป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำในนามของโจทก์ ทั้งไม่ได้นำสินค้าต่างๆ มาใช้ในราชการของโจทก์ ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าแทนโจทก์โดยใช้งบประมาณที่โจทก์จัดสรรให้มาเป็นรายปี การสั่งซื้อสินค้าได้นำไปใช้ในราชการของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าได้นำสินค้าไปใช้เป็นการส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ดังนี้แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างเป็นจำเลยด้วยกันในคดีก่อนก็ตามก็ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีก่อน คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่สั่งซื้อสินค้าจาก อ. ในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ เมื่อไม่ปรากฏว่าสินค้าต่างๆ ที่สั่งซื้อมานั้นได้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีความเสียหายอย่างใดเกิดขึ้นจากการที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 812
ส่วนค่าดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้นั้น มิใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเป็นผลเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง แต่เป็นผลที่เกิดจากการที่โจทก์สมัครใจต่อสู้คดีในคดีก่อนมาตั้งแต่ต้น โดยให้การปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำการในนามของโจทก์และไม่ได้นำสินค้ามาใช้ในราชการของโจทก์ จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์แต่ผู้เดียวที่ต้องรับผิดเนื่องจากจำเลยที่ 1 กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ และสินค้าที่โจทก์ชำระให้แก่ อ. ไปในคดีก่อนนั้น ฟังได้ว่าเป็นสินค้าที่จำเลยทั้งสองสั่งซื้อมาและนำไปใช้ในราชการของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าได้นำไปใช้ในการส่วนตัวของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด นอกจากนี้หนี้ค่าดอกเบี้ย ถือได้ว่าเป็นหนี้อุปกรณ์ เมื่อหนี้ประธานจำเลยทั้งสองไม่จำต้องรับผิดแล้ว หนี้อุปกรณ์จำเลยทั้งสองก็ไม่จำต้องรับผิดด้วยส่วนค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความตามที่โจทก์ฟ้องไล่เบี้ยเอากับจำเลยทั้งสองนั้น ไม่ใช่หนี้อุปกรณ์ของหนี้ในคดีก่อนที่โจทก์ถูกฟ้อง เพราะมิได้เกิดขึ้นและสิ้นไปตามหนี้ดังกล่าว แต่เป็นหนี้ที่เกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณา ซึ่งความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความย่อมเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 เมื่อมิได้เกิดขึ้นจากความผิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมรวมถึงค่าทนายความที่โจทก์ต้องรับผิดในคดีก่อนจากจำเลยทั้งสองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 428,062.44 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 428,062.44 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าธรรมเนียมให้ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นข้าราชการบำนาญสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โจทก์ เมื่อระหว่างปี 2530 ถึงปี 2532 จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 จังหวัดพะเยา มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานและเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนก 4 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์สำนักงานและพัสดุต่างๆ ที่ใช้ในกิจการของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 จังหวัดพะเยา จากนางสาวอัปสร เด่นวรรณกุล หลายครั้งรวมเป็นเงินที่ค้างชำระ 667,633 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2533 นางสาวอัปสรได้ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 3 ต่อศาลชั้นต้นเรียกเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่สั่งซื้อมาใช้ในกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 จังหวัดพะเยา ในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3831/2540 ให้โจทก์ชำระต้นเงินจำนวน 667,633 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ โจทก์นำเงินไปชำระเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2541 เป็นเงิน 1,095,695.44 บาท โดยแยกเป็นต้นเงินจำนวน 667,633 บาท ค่าทนายความศาลชั้นต้นจำนวน 5,000 บาท ค่าทนายความศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาศาลละ 7,000 บาท ค่าขึ้นศาลจำนวน 16,690.83 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 392,371.61 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามฟ้องต่อโจทก์ หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าหนี้ส่วนเกินตามฟ้องอันได้แก่ หนี้ค่าดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายความและค่าขึ้นศาลเป็นผลสืบเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ มิได้ปฏิบัติตามระเบียบของสำนักงานนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2521 และระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยการมอบอำนาจให้สั่งซื้อและสั่งจ้างฉบับที่ 14 พ.ศ.2528 จำเลยที่ 1 กระทำในฐานะผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการดำเนินการสั่งซื้อสินค้าจากนางสาวอัปสร โดยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว ทั้งหลังจากสั่งซื้อสินค้าแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการชำระราคาทั้งมิได้รายงานให้โจทก์ทราบ จนกระทั่งโจทก์ถูกนางสาวอัปสรฟ้องคดีเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์ต้องชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอากับจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคแรก นั้น เห็นว่า เกี่ยวกับหนี้ค่าสั่งซื้อสินค้ารายนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3831/2540 ซึ่งนางสาวอัปสร เด่นวรรณกุลเป็นโจทก์ฟ้องกรมตำรวจ (โจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 1) พันตำรวจเอกวิทยา นิลเพ็ชร์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เป็นจำเลยที่ 3) ในคดีก่อนโจทก์ให้การต่อสู้คดีในสาระสำคัญว่า การสั่งซื้อสินค้าจากนางสาวอัปสรเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำในนามของโจทก์ ทั้งไม่ได้นำสินค้าต่างๆ มาใช้ในราชการของโจทก์ ศาลฏีกาวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าแทนโจทก์โดยใช้งบประมาณที่โจทก์จัดสรรให้มาเป็นรายปี การสั่งซื้อสินค้าได้นำไปใช้ในราชการของโจทก์ไม่ปรากฏว่าได้นำสินค้าไปใช้เป็นการส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ดังนี้แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างเป็นจำเลยด้วยกันในคดีก่อนก็ตาม ก็ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีก่อน คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่สั่งซื้อสินค้าจากนางสาวอัปสรในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ เมื่อไม่ปรากฏว่าสินค้าต่างๆ ที่สั่งซื้อมานั้นได้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีความเสียหายอย่างใดเกิดขึ้นจากการที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 812 ส่วนค่าดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้นั้น มิใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเป็นผลเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคหนึ่ง แต่เป็นผลที่เกิดจากการที่โจทก์สมัครใจต่อสู้คดีในคดีก่อนมาตั้งแต่ต้น โดยให้การปฏิเสธความรับผิดว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำการในนามของโจทก์และไม่ได้นำสินค้ามาใช้ในราชการของโจทก์จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์แต่ผู้เดียวที่ต้องรับผิดเนื่องจากจำเลยที่ 1 กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ และสินค้าที่โจทก์ชำระให้แก่นางสาวอัปสรไปในคดีก่อนนั้นฟังได้ว่าเป็นสินค้าที่จำเลยทั้งสองสั่งซื้อมาและนำไปใช้ในราชการของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าได้นำไปใช้ในการส่วนตัวของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด นอกจากนี้หนี้ค่าดอกเบี้ย ถือได้ว่าเป็นหนี้อุปกรณ์ เมื่อหนี้ประธานจำเลยทั้งสองไม่จำต้องรับผิดแล้ว หนี้อุปกรณ์จำเลยทั้งสองก็ไม่จำต้องรับผิดด้วย ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความตามที่โจทก์มาฟ้องไล่เบี้ยเอากับจำเลยทั้งสองนั้นไม่ใช่หนี้อุปกรณ์ของหนี้ในคดีก่อนที่โจทก์ถูกฟ้อง เพราะมิได้เกิดขึ้นและสิ้นไปตามหนี้ดังกล่าว แต่เป็นหนี้ที่เกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณา ซึ่งความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติ มาตรา 161 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อมิได้เกิดขึ้นจากความผิดของจำเลยทั้งสองโจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมรวมถึงค่าทนายความที่โจทก์ต้องรับผิดในคดีก่อนจากจำเลยทั้งสองได้”
พิพากษายืน