คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา222เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าทรัพย์ที่จำเลยเผาบางส่วนนั้นจำเลยเป็นเจ้าของรวมกันอยู่ด้วยที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ทั้งหมดเป็นของผู้เสียหายจึงขัดต่อคำเบิกความของผู้เสียหายอันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา243(3)กประกอบด้วยมาตรา247และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา15 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา218เป็นบทฉกรรจ์ของมาตรา217ซึ่งการกระทำจะเป็นความผิดตามมาตรา217จะต้องเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นจะตีความให้รวมไปถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยหาได้ไม่เพราะมาตราดังกล่าวไม่มีข้อความว่า”หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย”บัญญัติไว้การตีความบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจะต้องตีความโดยเคร่งครัดจะขยายความไปถึงกรณีที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในตัวบทโดยชัดแจ้งอันจะเป็นผลร้ายแรงแก่จำเลยหาได้ไม่เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา2วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา218แต่เมื่อมาตรา218เป็นบทฉกรรจ์ของมาตรา217ซึ่งรวมการกระทำความผิดตามมาตรา217ไว้ด้วยจึงลงโทษจำเลยตามมาตรา217ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2535 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยได้วางเพลิงเผาโรงเรือนอันเป็นที่อยู่อาศัยของนางจุไรรัตน์ ปดิษฐพร ผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ที่นอนราคา 1,500 บาท เสื่อ 4 ผืน ราคา 200 บาท หมอน 6 ใบราคา 180 บาท และเงินสด 500 บาท ของผู้เสียหายซึ่งอยู่ในโรงเรือนดังกล่าวถูกไฟไหม้เสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลท่าขนอมอำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าพนักงานยึดได้ขวดซึ่งจำเลยใช้บรรจุน้ำมันในการวางเพลิงเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 และริบของกลาง
จำเลย ให้การ ปฎิเสธ
ศาลชั้นต้น พิจารณา แล้ว พิพากษา ว่า จำเลย มี ความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 (1) จำคุก 5 ปี ริบของกลาง
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลย 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เมื่อคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 (1)หรือไม่ ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยได้วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้เสียหาย อันหมายถึงว่า โรงเรือนที่จะถูกเผาและที่นอนเสื่อ หมอนกับเงินสดที่ถูกเผาแล้วเป็นทรัพย์ของผู้เสียหาย แต่ปรากฎว่าตามคำเบิกความของผู้เสียหายซึ่งเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ผู้เสียหายกับจำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากันประมาณ 8 ปี จึงเลิกร้างกัน บ้านหรือโรงเรือนที่เกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยร่วมกันปลูกสร้าง และที่นอน เสื่อกับหมอนได้มาระหว่างอยู่กินกับจำเลย แสดงว่าผู้เสียหายกับจำเลยเป็นเจ้าของรวมในโรงเรือนที่นอน เสื่อและหมอน ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของผู้เสียหาย จึงขัดต่อคำเบิกความของผู้เสียหายอันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (ก) ประกอบด้วยมาตรา 247 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15และฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า โรงเรือน ที่นอน เสื่อและหมอนเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายกับจำเลยเป็นเจ้าของรวมกัน เมื่อเป็นดังนี้ และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 นั้น เป็นบทฉกรรจ์ของมาตรา 217 ซึ่งการกระทำจะเป็นความผิดตามมาตรา 217 จะต้องเป็นวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น กรณีจะตีความคำว่า”ทรัพย์ของผู้อื่น” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 217 ให้รวมไปถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยหาได้ไม่ เพราะมาตราดังกล่าวไม่มีข้อความว่า “หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย” บัญญัติไว้ การตีความบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจะต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงกรณีที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในตัวบทโดยชัดแจ้งอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่จำเลยวางเพลิงเผาที่นอน เสื่อกับหมอน และแม้จำเลยจะเล็งเห็นผลได้ว่าเมื่อทรัพย์ดังกล่าวถูกเผาไหม้แล้วไฟจะลุกลามไหม้โรงเรือนอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 (1)แต่เมื่อที่นอน เสื่อ หมอนและโรงเรือนนั้นเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายกับจำเลยเป็นเจ้าของรวมกันดังที่ศาลฎีกาได้ฟังข้อเท็จจริงใหม่แล้ว จำเลยก็ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 และ มาตรา 218 (1) ส่วนเงินสดที่ถูกเผาซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นของผู้เสียหายนั้น เมื่อไม่ปรากฎว่าฟังขัดกับคำเบิกความของผู้เสียหายอันเป็นการวินิจฉัยผิดต่อกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาก็จะต้องฟังตามข้อเท็จจริงดังกล่าวการที่จำเลยวางเพลิงเผา เงินสดซึ่งเป็นของผู้เสียหาย จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 แต่เมื่อมาตรา 218 เป็นบทฉกรรจ์ของมาตรา 217 ซึ่งรวมการกระทำความผิดตามมาตรา 217 ไว้ด้วย จึงลงโทษจำเลยตามมาตรา 217 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 จำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาท จำเลยกับผู้เสียหายอยู่กินเป็นสามีภริยามีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาเลิกร้างกันได้ประมาณ 1 เดือน ก็เกิดเหตุคดีนี้ พฤติการณ์อาจเพราะจำเลยไม่พอใจหรือโกรธแค้นผู้เสียหายที่เลิกร้างกับจำเลย จึงก่อเหตุร้ายขึ้น เมื่อพิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์และพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าว ประกอบกับไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนกรณีมีเหตุสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัว โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ของกลางคงให้ริบ

Share