คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 435/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถในการฟ้องคดีนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 บัญญัติไว้ต่างหากจากบทบัญญัติเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องตามมาตรา 179ถึงมาตรา 181 โดยให้เป็นเรื่องที่คู่ความจะขอแก้ไขให้บริบูรณ์ได้ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนศาลมีคำพิพากษา และเมื่อได้ปรากฏความบกพร่องในเรื่องความสามารถขึ้นแล้ว ห้ามมิให้ศาลพิพากษาในประเด็นแห่งคดีจนกว่าข้อบกพร่องนั้นได้แก้ไขโดยบริบูรณ์แล้ว ดังนั้น การแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่อง ความสามารถจึงไม่อยู่ในบังคับว่าจะต้องทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานเหมือนการแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องและคำให้การ
โจทก์เป็นหญิงมีสามี ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอมของสามี เมื่อโจทก์แสดงหลักฐานว่าโจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์โดยนำหนังสือยินยอมอนุญาตของสามีให้ดำเนินคดีมาแสดงต่อศาล แม้ภายหลังการชี้สองสถานแล้วก็ตาม โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีได้โดยชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามบันทึกของคณะกรมการอำเภอท่าวุ้ง ท้ายฟ้อง เป็นเงิน ๒,๘๐๐บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์จริงแต่ต่อสู้มาในคำให้การข้อหนึ่งว่า โจทก์เป็นหญิงมีสามี ไม่ได้รับอนุญาตจากสามีให้ฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีมีประเด็นจะต้องนำสืบว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยกำหนดให้โจทก์นำสืบก่อน
ก่อนสืบพยาน โจทก์ยื่นคำร้องว่าได้รับอนุญาตจากสามีให้ฟ้องคดีนี้แล้ว และได้ยื่นหนังสือยินยอมอนุญาตให้ฟ้องคดีของนายชิต โฉมงามพร้อมคำร้อง จำเลยแถลงรับว่า นายชิต โฉมงาม เป็นสามีโจทก์และทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ฟ้องคดีจริง แต่คัดค้านว่าโจทก์กล่าวอ้างตลอดมาก่อนชี้สองสถานว่าโจทก์เป็นหม้าย จนศาลชี้สองสถานแล้ว จึงขอแก้ว่าเป็นหญิงมีสามี และส่งหนังสือยินยอมอนุญาตของสามีต่อศาล จำเลยเห็นว่าโจทก์ทำไม่ได้ คดีต้องยกฟ้อง ทั้งสองฝ่ายแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้จะเป็นเวลาภายหลังชี้สองสถานแล้วโจทก์ก็มีสิทธิแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถได้ เมื่อโจทก์มีหนังสือของสามีอนุญาตให้ฟ้องคดีมาแสดง โจทก์ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีได้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถในการฟ้องคดีนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๖ บัญญัติไว้ต่างหากจากบทบัญญัติเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องตามมาตรา ๑๗๙ ถึงมาตรา ๑๘๑ โดยให้เป็นเรื่องที่คู่ความจะขอแก้ไขให้บริบูรณ์ได้ไม่ว่าเวลาใด ๆก่อนศาลมีคำพิพากษา และเมื่อได้ปรากฏความบกพร่องในเรื่องความสามารถขึ้นแล้ว ห้ามมิให้พิพากษาในประเด็นแห่งคดีจนกว่าข้อบกพร่องนั้นได้แก้ไขโดยบริบูรณ์แล้ว การแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถดังกล่าวจึงอาจกระทำได้โดยคู่ความทุกฝ่ายก่อนมีคำพิพากษา และไม่อยู่ในบังคับว่าจะต้องทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันนัดชี้สองสถานเหมือนการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องและคำให้การดังที่จำเลยฎีกา เมื่อโจทก์แสดงหลักฐานว่าโจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ โดยทำหนังสือยินยอมอนุญาตของสามีให้ดำเนินคดีมาแสดงต่อศาลแล้ว โจทก์ก็มีอำนาจดำเนินคดีนี้ได้โดยชอบ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share