แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โฉนดที่ดิน มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 การที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ให้เห็นว่าโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารมหาชนไม่ถูกต้องอย่างไร
โจทก์ใช้ทางพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินของญาติโจทก์ออกสู่ทางสาธารณะมากว่า 10 ปี โดยขออาศัยกันในระหว่างหมู่ญาติ หรือเป็นการเดินโดยถือวิสาสะการใช้ทางพิพาทในระยะเวลาดังกล่าวจึงไม่อาจได้ภาระจำยอม แต่นับตั้งแต่ขายที่ดินซึ่งมีทางพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกไป และมีการโอนกันต่อ ๆ มาจนถึงจำเลยเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี การใช้ทางพิพาทของโจทก์เป็นไปโดยสงบและเปิดเผยมิได้ขออนุญาตผู้ใด ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความ
ที่ดินของโจทก์ทางทิศตะวันออกติดลำแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าบ้านโจทก์มีท่าน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นทางสาธารณะได้ แม้ในปัจจุบันจะไม่ค่อยมีผู้ใช้สัญจรไปมาก็ถือไม่ได้ว่าที่ดินโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยจึงไม่เป็นทางจำเป็น
โจทก์ฟ้องขอให้เปิดทางภาระจำยอมกว้าง 3.50 เมตรจำเลยมิได้ต่อสู้เกี่ยวกับความกว้าง แต่ต่อสู้ว่าไม่มีทางภาระจำยอม ย่อมมีความหมายไปถึงว่า ไม่มีทางภาระจำยอมแม้แต่เมตรเดียวด้วย การที่ศาลล่างวินิจฉัยถึงความกว้างของทางภาระจำยอม จึงไม่ใช่เป็นวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
ทางพิพาทอยู่ห่างจากแนวเขตที่ดินจำเลยทางทิศใต้เข้ามา2.30 เมตร การสร้างรั้วหรืออาคารโดยเว้นทางพิพาทไว้ ย่อมทำให้จำเลยเสียที่ดินด้านสุดแนวเขตที่ดินทางทิศใต้ เว้นแต่จะกั้นรั้วหรือสร้างอาคารเป็นสองตอนซึ่งเป็นการเพิ่มภาระแก่จำเลยและใช้ประโยชน์ไม่ได้เท่าที่ควร แต่หากย้ายทางพิพาทจากที่เดิมไปอยู่ตรงสุดแนวเขตที่ดินทางทิศใต้แล้ว ย่อมไม่ทำให้ความสะดวกของโจทก์ลดน้อยลง ในขณะเดียวกันจำเลยก็สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าการย้ายภาระจำยอมเป็นประโยชน์แก่จำเลยด้วย ตามนัย ป.พ.พ.มาตรา 1392 และตามคำร้องของจำเลยที่ขอให้ยกเลิกคำสั่งห้ามชั่วคราวก็ได้ขอให้ย้ายภาระจำยอมไปทางด้านทิศใต้สุดแนวเขตที่ดินของจำเลย ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ย้ายภาระจำยอมไปสุดแนวเขตที่ดินจำเลยทางด้านทิศใต้จึงไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น
การจดทะเบียนภาระจำยอมถือว่าเป็นการอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ซึ่งภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1391 แม้จะได้ภาระจำยอมโดยอายุความ เจ้าของสามยทรัพย์ก็เรียกให้เจ้าของภารยทรัพย์จดทะเบียนทางภาระจำยอมแก่ตนได้