แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมเพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวกับประเด็น จำเลยแถลงคัดค้านและอุทธรณ์ คำสั่งศาลชั้นต้นว่า หากศาลเปิดโอกาสให้นำพยานหลักฐานที่ระบุเพิ่มเติมเข้าสืบจะทำให้ศาลเห็นว่าการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบ เพราะราคาค่าซื้อขายไม้ที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาคำนวณเป็นรายรับ เป็นไม้ที่จำเลยยังนำออกมาจำหน่ายไม่ได้ เนื่องจากมีคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 32/2532ห้ามเข้าทำไม้และเคลื่อนย้ายไม้โดยเด็ดขาด ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยว่าคำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว จำเลยฎีกาว่า หากศาลอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติม จำเลยสามารถนำพยานเข้าสืบให้เป็นที่ประจักษ์แก่ศาลได้ว่า ทรัพย์สินของจำเลยยังมีอยู่และมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 5,000,000 บาท จำเลยจึงมิใช่ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวซึ่งเป็นเหตุผลคนละอย่างกับที่จำเลยเคยให้ไว้ในคำแถลงคัดค้านและในอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 การที่อธิบดีกรมโจทก์มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฟ้องคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ในศาล มิใช่การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนอันจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และทำเป็นคำสั่งและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่ออธิบดีกรมโจทก์ปฏิบัติถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 แล้วผู้รับมอบอำนาจชอบที่จะฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นแทนโจทก์ได้ เมื่อจำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีการค้า ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จำเลยมิได้อุทธรณ์ การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 30 การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานจึงถึงที่สุด เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวโจทก์ย่อมมีอำนาจบังคับเอากับจำเลยได้เช่นเดียวกับหนี้ที่เกิดจากคำพิพากษา จำเลยจะกล่าวอ้างว่าการประเมินของเจ้าพนักงานไม่ชอบอีกไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าภาษีอากรจำนวน 2,263,357.06 บาทโจทก์มีหนังสือวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน จำเลยได้รับแจ้งแล้วแต่ไม่ชำระหนี้ จำเลยปิดสถานที่ประกอบธุรกิจและไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จำเลยจึงเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้โจทก์กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่าห้าแสนบาท ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรตามที่โจทก์ประเมินในระยะปี 2520 เป็นต้นมา ทางราชการมีคำสั่งปิดป่า จำเลยไม่มีโอกาสรับจ้างตัดฟันไม้หรือเป็นลูกช่างทำไม้จำเลยมีรายได้พอชำระหนี้แก่โจทก์ จึงไม่ใช่ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 4 ไม่ชอบด้วยเหตุผล หากศาลอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมได้แล้ว จำเลยก็สามารถนำพยานเข้าสืบให้เป็นที่ประจักษ์แก่ศาลได้ว่า ทรัพย์สินของจำเลยยังมีอยู่และมีมูลค่าไม่น้อยกว่า5,000,000 บาท จำเลยจึงมิใช่ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว นั้น เห็นว่าศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 4 เพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับประเด็น จำเลยแถลงคัดค้านและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นว่า บัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 4 ของจำเลยเกี่ยวข้องกับประเด็นโดยตรงและเป็นพยานสำคัญในคดี โดยให้เหตุผลเหมือนกันว่า หากศาลเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีโดยนำพยานหลักฐานที่ระบุเพิ่มเติมครั้งที่ 4 เข้าสืบ จะทำให้ศาลเห็นว่าการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการประเมินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะราคาค่าซื้อขายไม้ที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาคำนวณเป็นรายรับของจำเลยนั้น เป็นไม้ที่จำเลยยังนำออกมาจำหน่ายไม่ได้ เนื่องจากมีคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 32/2532 ห้ามเข้าทำไม้และเคลื่อนย้ายไม้โดยเด็ดขาดศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 4 โดยอ้างว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นชอบด้วยเหตุผลแล้ว การที่จำเลยฎีกาว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 4 ไม่ชอบด้วยเหตุผล โดยให้เหตุผลคนละอย่างกันที่จำเลยเคยให้ไว้ในคำแถลงคัดค้านและในชั้นอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะอธิบดีกรมโจทก์มอบอำนาจให้นายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาฟ้องคดีโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย การฟ้องคดีเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติราชการจะมอบอำนาจให้ดำเนินคดีอย่างคู่ความธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60ไม่ได้นั้น เห็นว่า การที่อธิบดีกรมโจทก์มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฟ้องคดีและการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ในศาล มิใช่การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนอันจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและทำเป็นคำสั่งและประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามที่บัญญัติไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ข้อ 42ซึ่งใช้บังคับในขณะมอบอำนาจ ฉะนั้นเมื่ออธิบดีกรมโจทก์มอบอำนาจให้นายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ แทนโจทก์ โดยปฏิบัติถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 แล้วผู้รับมอบอำนาจจึงชอบที่จะฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆแทนโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินภาษีอากร จำนวนเงินภาษีอากรที่โจทก์เรียกร้องเพิ่มจากจำเลยเป็นมูลหนี้ที่ขัดต่อกฎหมาย ถือเสมือนว่าไม่มีมูลหนี้ต่อกันจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า หนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจากโจทก์แล้วจำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และไม่ชำระหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าว เมื่อจำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายแล้วไม่อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานจึงถึงที่สุด และเมื่อจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวโจทก์ย่อมมีอำนาจที่จะบังคับเอากับจำเลยได้เช่นเดียวกับหนี้ที่เกิดจากคำพิพากษา จำเลยจะกล่าวอ้างว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบอีกไม่ได้
พิพากษายืน