แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เปิดเผยความลับในสำนวนการสอบสวนทางวินัยโจทก์ให้ผู้อื่นล่วงรู้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทย หากมีการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังฟ้องก็เป็นเรื่องที่อาจจะเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับของการสื่อสารแห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทยย่อมเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว โจทก์มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157, 164, 165, 136, 83, 86, 91 โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฐานเปิดเผยความลับในสำนวนการสอบสวนทางวินัย ที่โจทก์ถูกสอบสวน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกา โจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลฎีกาสั่งให้รับฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 1ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 164
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่ศาลฎีกาสั่งรับฎีกาโจทก์ขึ้นมานั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดฐานนำความลับไปเปิดเผยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 164 บทมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน รู้หรืออาจรู้ความลับในราชการกระทำโดยประการใด ๆ อันมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับนั้น ต้องระวางโทษ…” อันเป็นความผิดในลักษณะ 2 ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เปิดเผยความลับในสำนวนการสอบสวนทางวินัยโจทก์ให้ผู้อื่นล่วงรู้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทย หากมีการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังฟ้องก็เป็นเรื่องที่อาจจะเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับของการสื่อสารแห่งประเทศไทยการสื่อสารแห่งประเทศไทยย่อมเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว ส่วนโจทก์มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย เนื่องจากการกระทำของจำเลย ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาดังกล่าว ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหานี้ด้วยเป็นการชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน