แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำบรรยายฟ้องในเรื่องจำเลยปล้นทรัพย์ผู้เสียหายคนหนึ่งก่อนหรือหลัง ผู้เสียหายอีกคนหนึ่งในคดีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นคนร้ายปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายในคืนเดียวกันหลายรายด้วยกัน ย่อมไม่เป็นสาระสำคัญของคำฟ้อง เป็นแต่เพียงรายละเอียดเพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อหาเท่านั้น และเมื่อจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ หากทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามสาระสำคัญของคำฟ้องแล้ว ศาลก็ย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้
ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยร่วมกันปล้นทรัพย์ ด. แล้วจึงไปปล้นทรัพย์ของ ม. ทีหลัง แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยปล้นทรัพย์ ม. ก่อนแล้วจึง ไปปล้น ด. ซึ่งทำให้ข้อเท็จจริงต่างกับฟ้องบ้างก็ตาม ก็หาใช่สาระสำคัญไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ก. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2518 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจำเลยใช้เรือยนต์เป็นยานพาหนะและใช้อาวุธปืนที่ติดตัวขู่เข็ญปล้นทรัพย์นายแดง
ข. ตามวันเวลาังกล่าวในข้อ ก. หลังจากจำเลยปล้นทรัพย์ดังกล่าวแล้วจำเลยได้ปล้นทรัพย์นายตอแหด
ค. ตามวันเวลาดังกล่าวในข้อ ก. เมื่อจำเลยปล้นทรัพย์ดังกล่าวในข้อ ข.แล้ว จำเลยได้ปล้นทรัพย์นายหมาด
ง. ตามวันเวลาดังกล่าวในข้อ ก. เมื่อจำเลยปล้นทรัพย์ดังกล่าวในข้อ ค.แล้ว จำเลยได้ปล้นทรัพย์นายหีม หรือ นิรันต์
ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ข้อ 2, 14, 15 กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 27,420 บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดฐานปล้นนายหมาดนายตอแหด และจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานชิงทรัพย์นายหีมด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี, 339 วรรคสอง ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ข้อ 14, 15 แต่การกระทำของจำเลยต่อเนื่องเป็นกรรมเดียวกัน จึงเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ 18 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่เจ้าทรัพย์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ถึงแม้ฟ้องโจทก์จะบรรยายว่าจำเลยร่วมกันปล้นทรัพย์นายแดง แล้วจึงไปปล้นทรัพย์ของนายหมาดทีหลัง แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยปล้นทรัพย์นายหมาดก่อน แล้วจึงไปปล้นนายแดง ซึ่งทำให้ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความต่างกับฟ้องบ้างก็ตาม แต่คำบรรยายฟ้องของโจทก์ในเรื่องจำเลยปล้นทรัพย์ผู้เสียหายก่อนหรือหลังในคดีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นคนร้ายปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายในคืนเดียวกันหลายรายด้วยกัน ย่อมไม่เป็นสารสำคัญของคำฟ้องเป็นแต่เพียงรายละเอียดเพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อหาเท่านั้น และเมื่อจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ หากทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามสารสำคัญของคำฟ้องแล้ว ศาลก็ย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยและบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น