แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยโอนหุ้นของบริษัทโจทก์เพื่อชำระหนี้ให้แก่บริษัทโจทก์ โดยวิธีสลักหลังลอยส่งมอบใบหุ้นแก่บริษัทโจทก์ ก็มีผลเท่ากับว่าบริษัทโจทก์รับเอาหุ้นของบริษัทโจทก์ไว้เป็นประกันนั่นเองอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1143 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ห้ามบริษัทจำกัดรับจำนำหุ้นของตนเอง เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113(มาตรา 151 ที่แก้ไขใหม่)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์รวม 2 ครั้ง ต่อมาจำเลยสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ โดยไม่ได้ลงวันสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้เงินยืมแก่โจทก์ โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยกู้ยืมเงินต่อไป จึงมอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม จำเลยรับหนังสือทวงถามแล้วเพิกเฉยโจทก์จึงลงวันที่ในเช็ค แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ไว้จริง แต่ไม่ได้ลงวันที่เพื่อประกันหนี้ซึ่งจำเลยกู้ยืมจากโจทก์โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วโจทก์จะคืนเช็คให้จำเลย ในการกู้ยืมเงินโจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 23.7ต่อปี ชำระทุกเดือน นับแต่กู้ยืมเงินแล้ว จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตลอดมา ส่วนต้นเงินยังค้างชำระ จำเลยจึงสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องให้โจทก์ยึดถือไว้ ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงหักล้างหนี้สินกัน โดยจำเลยโอนหุ้นพร้อมเงินปันผลที่จำเลยจะได้รับให้แก่โจทก์ เมื่อรวมกับดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์แล้ว หนี้ดังกล่าวเป็นอันระงับไป จำเลยขอรับเช็คคืนจากโจทก์ แต่โจทก์ไม่คืนให้โดยอ้างว่าจะได้เก็บไว้เป็นหลักฐานทางบัญชี จนกระทั่งเกิดปัญหาขัดแย้งภายในบริษัทโจทก์ กรรมการชุดใหม่จึงนำเช็คของจำเลยไปเรียกเก็บเงิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทโจทก์ ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์เมื่อปลายปี พ.ศ. 2528 รวมเป็นเงิน 1,190,000 บาท โดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทจำนวน 3 ฉบับ ไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายให้โจทก์ไว้เพื่อชำระหนี้เงินยืมดังกล่าว ต่อมาโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินยืม จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงลงวันที่ในเช็คพิพาท วันที่ 5มิถุนายน 2530 จำนวน 1 ฉบับ วันที่ 15 มิถุนายน 2530 จำนวน 2 ฉบับแล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยว่า ได้มีการชำระหนี้เงินยืมตามเช็คพิพาทหรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ชำระหนี้ตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว โดยการสลักหลังใบหุ้นบริษัทโจทก์ที่จำเลยถือ และมอบใบหุ้นให้แก่โจทก์ พร้อมกับลงชื่อในใบโอนหุ้นให้โจทก์ถือไว้ อันเป็นการสลักหลังลอยตามที่โจทก์ต้องการแล้วหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยในคดีนี้ต้องเป็นอันระงับไปนั้น เห็นว่าโจทก์มิได้ยอมรับว่าได้มีการชำระหนี้โดยการโอนหุ้นชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยคงนำสืบลอย ๆ ว่าจำเลยโอนหุ้น 800,000 บาทตามเอกสารหมาย ล.4 ให้โจทก์โดยสลักหลังใบหุ้นโอนให้แก่โจทก์ไปแล้วและยังโอนเงินปันผลจำนวน 160,000 บาท หักชำระหนี้แก่โจทก์ด้วย จำเลยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังตามข้อกล่าวอ้าง ทั้งตามคำของจำเลยก็ว่าการตกลงชำระหนี้ด้วยการโอนหุ้นนั้นตกลงกันด้วยวาจาและตามใบหุ้นเอกสารหมาย ล.4 ยังมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือหุ้น ดังนั้น เมื่อจำเลยมีภาระในการพิสูจน์เกี่ยวกับการชำระหนี้ดังกล่าวนำสืบไม่สมกับที่จำเลยกล่าวอ้างจึงรับฟังไม่ได้ว่าได้มีการชำระหนี้ด้วยการโอนหุ้นให้แก่โจทก์ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะฟังว่ามีการโอนหุ้นให้แก่โจทก์โดยวิธีสลักหลังลอยส่งมอบใบหุ้นแก่โจทก์ ก็มีผลเท่ากับว่าโจทก์รับเอาหุ้นของบริษัทโจทก์ไว้เป็นประกันนั่นเอง อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1143แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ห้ามบริษัทจำกัดรับจำนำหุ้นของตนเองเป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 (มาตรา 150 ที่แก้ไขใหม่) จำเลยจึงจะอ้างมาเป็นมูลเรียกร้องให้หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ที่มีต่อโจทก์หาได้ไม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าหนี้ระงับแล้วรับฟังไม่ได้นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน