คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 373/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้กระทำผิดตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มิได้จำกัดเฉพาะผู้ควบคุมงานเท่านั้น แต่หมายความถึงผู้ใดก็ตามที่จัดให้มีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารผิดไปจากแผนผัง บริเวณแบบแปลน ผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดตามมาตรานี้ด้วย ส่วนตามบทบัญญัติของวรรคสอง มาตราเดียวกันนี้หมายถึงว่า ผู้ควบคุมงานก็มีความผิดด้วย และเป็นตัวการร่วมกันกับผู้จัดให้มีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ผู้กระทำผิดตามมาตรา 31 นี้ เพียงแต่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ระบุไว้เพียงประการเดียวก็เป็นความผิดแล้ว คือ กระทำการดังกล่าวให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ ผิดไปจากแบบแปลน ผิดไปจากรายงานประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ผิดไปจากวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต หาจำเป็นจะต้องกระทำการทุกอย่างร่วมกันไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ก่อสร้างอาคารตึกแถว 3 ชั้น จำนวน 9 ห้องเพื่อพาณิชยกรรม มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมงาน จำเลยทั้งสองได้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองระงับการก่อสร้างอาคารดังกล่าว จำเลยทั้งสองทราบคำสั่งแล้ว ยังคงดำเนินการก่อสร้างต่อไป รวมเป็นเวลา 24 วันอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น เหตุเกิดที่แขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 40, 65, 67, 70, 72ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกันกระทำความผิดก่อสร้างอาคารพาณิชย์ผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจริง ตั้งแต่วันที่4 ธันวาคม 2529 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2530 ส่วนข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้นจำเลยทั้งสองปฏิเสธ เพราะได้สร้างอาคารเสร็จแล้ว ก่อนที่เขตพระโขนงจะมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 65, 70, 72 ให้ลงโทษตามมาตรา 31, 65 วรรคแรก, 70, 72 ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 10,000 บาทและจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับจำเลยทั้งสองตามมาตรา 65 วรรคสอง, 70 วันละ 5,000 บาท นับแต่วันที่ 27 มกราคม 2530ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2530 เป็นเวลา 58 วัน เป็นเงินคนละ 290,000 บาทรวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 300,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ไว้6 เดือน ปรับ 300,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพบางส่วนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสามคงปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 200,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 4 เดือน ปรับ 200,000 บาทไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยกระทำผิดมาก่อน โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 มีกำหนด 2 ปี คำขออื่นของโจทก์ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้ว ได้ความว่า จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ก่อสร้างอาคารตึกแถว 3 ชั้น จำนวน 9 ห้อง เพื่อพาณิชยกรรม โดยจำเลยที่ 1เป็นเจ้าของอาคาร จำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมงาน เมื่อระหว่างวันที่ 27 มกราคม 2530 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2530 จำเลยทั้งสองได้ก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1มีดังนี้
ประการแรก ความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 31 ไม่ใช่ความผิดสำหรับผู้ก่อสร้างอาคารผิดแผนผังบริเวณแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต แต่เป็นความผิดเฉพาะตัวของผู้ควบคุมงาน จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ควบคุมงานจึงไม่มีความผิดตามมาตรานี้ เห็นว่ามาตรา 31 บัญญัติว่า”ห้ามผู้ใดจัดให้มีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต…” ดังนั้นผู้กระทำผิดจึงเป็นผู้ใดก็ตามที่จัดให้มีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลนไม่จำกัดเฉพาะผู้ควบคุมงานเท่านั้นที่วรรคสองของมาตราเดียวกันบัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารเป็นการฝ่าฝืนความในวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการกระทำของผู้ควบคุมงาน…” หมายถึงว่าผู้ควบคุมงานก็มีความผิดด้วย และเป็นตัวการร่วมกันกับผู้จัดให้มีการก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารผู้จัดให้มีการก่อสร้าง จึงร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ผู้ควบคุมงาน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น
ประการที่สอง การกระทำความผิดตามมาตรา 31 จะต้องมีการก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปทั้งแผนผังบริเวณ แบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตรวมกันทุกประการจึงจะมีความผิดแต่จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างอาคารผิดไปเฉพาะแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นการกระทำจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด เห็นว่า มาตรานี้หมายความว่าผู้กระทำความผิดต้องเป็นผู้จัดการให้มีการก่อสร้าง ดัดแปลงรื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังจะกล่าวต่อไปนี้เพียงประการเดียวก็เป็นความผิดแล้ว คือกระทำการดังกล่าวมาแล้วให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ ผิดไปจากแบบแปลนผิดไปจากรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ผิดไปจากวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต หาจำเป็นจะต้องกระทำการทุกอย่างร่วมกันไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นการจัดให้มีการก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจึงมีความผิดตามมาตรานี้แล้ว
ประการสุดท้าย ศาลล่างลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเวลา58 วัน ตามมาตรา 65 วรรคสอง เป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเห็นว่า ตามคำฟ้องได้ความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดให้มีการก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานท้องถิ่นระหว่างวันที่ 27 มกราคม 2530 ถึงวันที่ 30มีนาคม 2530 เป็นเวลา 63 วัน แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสองสร้างอาคารเสร็จในวันที่ 25 มีนาคม 2530 เป็นเวลา 58 วันที่ศาลล่างลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 58 วัน จึงไม่เกินคำขอที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share