แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยจ้าง น.ตอกเสาเข็มเพื่อสร้างอาคารชุดโดยจำเลยเลือกจ้างให้ผู้รับจ้างฝังเสาเข็มโดยวิธีตอกเพราะเห็นว่าเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีเจาะทั้ง ๆ ที่ตระหนักดีว่าการตอกเสาเข็มจะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อันเป็นเหตุให้อาคารโจทก์และผู้อื่นในบริเวณใกล้เคียงเสียหาย แต่จำเลยก็ไม่สนใจ ถือได้ว่าจำเลยผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำจึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวต่อโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เสียหายอย่างไร โดยแยกเป็นรายการและคำนวณค่าซ่อมรวมไว้ ซึ่งสามัญชนทั่ว ๆ ไปพอจะเข้าใจถึงสภาพของความเสียหายและค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้ว ทั้งจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้คดี ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ เป็นเรื่องที่โจทก์จะได้นำสืบในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันก่อสร้างอาคารชุดใกล้โรงแรมของโจทก์ จำเลยทั้งสองได้ตอกเสาเข็มขนาดใหญ่ ขุดหลุมทำตอม่อและฐานรากอาคารชุด โดยมิได้ทำการป้องกันการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงและการเลื่อนตัวของดินเป็นเหตุให้อาคารและทรัพย์สินของโจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายจำนวน530,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่าไม่ได้เป็นผู้ตอกเสาเข็ม ผู้ตอกเสาเข็มใช้ความระมัดระวังเช่นผู้มีวิชาชีพพึงปฏิบัติแล้ว ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมและความเสียหายสูงเกินความจริง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 160,000บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองได้ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อนี้ได้ความจากนายดุสิต กรรมการบริษัทโจทก์ว่า เนื่องจากจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันก่อสร้างอาคารชุดคอนโดมิเนียมแกรนด์เฮ้าท์ 2 ห่างจากโรงแรมโจทก์เพียง 30 เมตรเศษ และได้ตอกเสาเข็มขนาดใหญ่จำนวนมาก มีการขุดดินทำฐานตอม่อโดยปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้ตัวอาคารโรงแรมรวมทั้งทรัพย์สินส่วนอื่น ๆ ของโจทก์รวม 11 รายการเสียหาย นายพิชัย นิมิตรวรกุล วิศวกรซึ่งเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ผู้มาตรวจความเสียหายอาคารโจทก์เบิกความว่า เนื่องจากการตอกเสาเข็มของจำเลยจำนวนมากและขุดฐานรากลึก ทำให้เกิดแรงดันของดินออกและบริเวณใกล้เคียงได้รับความสั่นสะเทือน ถนนเอียงทรุด ในขณะนั้นตึกที่กำลังก่อสร้างมีอยู่เพียงอาคารคอนโดมิเนียมซึ่งสูงถึง 29 ชั้นของจำเลยทั้งสองแห่งเดียวเท่านั้น ความเสียหายอาคารโรงแรมและทรัพย์สินส่วนอื่น ๆ ดังกล่าวของโจทก์น่าจะเกิดจากการสั่นสะเทือนเพราะการตอกเสาเข็มในการก่อสร้างอาคารชุดของจำเลยทั้งสองดังกล่าวแล้ว ไม่น่าจะเกิดจากความเสื่อมสภาพในการใช้อาคารความเสียหายต่างเกิดขึ้นในระยะเวลาที่มีการตอกเสาเข็มของจำเลย นายเฉลิมศักดิ์วิริยะยุทธมา ผู้จัดการฝ่ายประสานงานทั่วไป ของบริษัทไทยโกเรียคอสโมเอนเตอร์ไพรส์ ซึ่งเช่าโรงแรมโจทก์อยู่เบิกความว่าที่มีการก่อสร้างอาคารชุดของจำเลยช่วงที่ตอกเสาเข็มปรากฏว่าทางเดินด้านหน้าค๊อฟฟี่ช๊อป ทางเดินบริเวณสระน้ำ และส่วนอื่น ๆ ของโรงแรมโจทก์ได้รับความเสียหายคือมีการแตกร้าวฝ่ายจำเลยนำสืบโต้แย้งว่าความเสียหายของอาคารโจทก์ส่วนที่อยู่ติดกับถนนนั้น เนื่องจากมีรถบัสใหญ่ ๆ รับส่งแขกของโรงแรมและรถอื่นวิ่งผ่านทำให้เกิดการสั่นสะเทือนและเกิดการแตกร้าวของอาคารโจทก์ได้ ส่วนบริเวณสระน้ำนั้น เนื่องจากสระน้ำสร้างมานาน การใช้เสาเข็มมีความยาวไม่เท่ากันกับตัวอาคารโรงแรมทำให้การทรุดตัวไม่เท่ากันเป็นเหตุให้เกิดรอยแตกร้าว เสาเข็มที่จำเลยใช้ตอกจำเลยมิได้จัดการตอกเอง หากจำเลยได้ซื้อเสาเข็มจากบริษัทนครหลวงวัตถุก่อสร้างและคอนกรีตอัดแรง จำกัด โดยผู้ขายคิดราคาเสาเข็มรวมทั้งค่าตอกเสาเข็มด้วย ผู้ขายมีหน้าที่ตอกเสาเข็มตามจุดที่จำเลยกำหนดไว้ในแบบแปลนก่อสร้าง เมื่อพิจารณาข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าความเสียหายของโจทก์ น่าจะเกิดจากอาคารโจทก์สร้างมานานรอยแตกร้าวย่อมจะเกิดขึ้นตามสภาพของการใช้สอย และเสาเข็มที่ใช้ในการก่อสร้างตัวอาคารโรงแรมโจทก์กับสระว่ายน้ำมีความยาวไม่เท่ากันการทรุดตัวจึงไม่เท่ากัน และอาจเกิดจากความสั่นสะเทือนของรถบัสที่เข้ามารับส่งแขกของโรงแรม ถ้าความชำรุดแตกร้าวของโรงแรมโจทก์เกิดเพราะเหตุตามจำเลยอ้าง รอยแตกร้าวต่าง ๆดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.3ประกอบกับตามบันทึกของศาลชั้นต้นในการไปเดินเผชิญสืบตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527 ปรากฏว่า กระจกหน้าต่างห้องอาหารมีรอยแตกร้าวทั่ว ๆ ไป กำแพงและพื้นห้องครัวติดกับห้องอาหารมีรอยแตกร้าวบริเวณสระน้ำทั้งที่พื้นและกำแพง ตลอดทั้งผนังใกล้บันได ประตูทางเข้าครัวด้านสระน้ำมีรอยแตกร้าวอยู่ทั่ว ๆ ไปนั้น ได้ความตามคำเบิกความของนายเฉลิมศักดิ์พยานโจทก์ผู้ซึ่งทำงานประจำที่โรงแรมโจทก์ว่า ความเสียหายของอาคารโจทก์ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.3 นั้นเกิดขึ้นช่วงที่มีการตอกเสาเข็มอาคารชุดของจำเลย จึงฟังได้ว่าความเสียหายของอาคารโจทก์เกิดขึ้นเนื่องจากการตอกเสาเข็มและการขุดดินสร้างฐานรากอาคารชุดของจำเลย มีปัญหาต่อไปว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดหรือไม่จำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยได้ซื้อเสาเข็มจากบริษัทนครหลวงวัตถุก่อสร้างและคอนกรีตอัดแรง จำกัด ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีหน้าที่ตอกเสาเข็มด้วย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 บัญญัติว่า ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง ได้ความจากนายชาตรี อัศวรัตนภรณ์ วิศวกรพยานจำเลยว่า การตอกเสาเข็มมีอยู่ 2 วิธี คือ วิธีเจาะ และวิธีตอกวิธีตอกนี้จะกระเทือนต่ออาคารข้างเคียงมากกว่า เพราะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนมาก ส่วนวิธีเจาะจะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนน้อยมาก แต่จะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายมากกว่ากันประมาณ 3-4 เท่า เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองเลือกจ้างการตอกเสาเข็มวิธีตอกก็เพราะเห็นว่าจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีเจาะ ทั้งที่ตระหนักดีว่า การตอกเสาเข็มด้วยวิธีตอกนั้น จะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนอย่างแรงอันเป็นเหตุให้อาคารโจทก์และของผู้อื่นในบริเวณใกล้เคียงเสียหาย แต่จำเลยทั้งสองไม่สนใจอันถือได้ว่าจำเลยทั้งสองผู้ว่าจ้างให้ตอกเสาเข็มด้วยวิธีตอกเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ ทั้งได้ความจากคำเบิกความของนายสุรินทร์บัญญัติปิยะพจน์ พยานจำเลยอีกว่า การขุดดินทำฐานรากเป็นหน้าที่ของจำเลยไม่เกี่ยวกับผู้ขายเสาเข็มเช่นนี้ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวต่อโจทก์
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่ามีการซ่อมแซมรายการใดใช้วัสดุอุปกรณ์และค่าแรงอย่างใด และเท่าใดเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า เรื่องค่าเสียหายนั้นโจทก์ได้บรรยายว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไรแยกเป็นรายการไปถึง 11 รายการโดยคำนวณค่าซ่อมแซมรวมทั้งสิ้นไว้ ซึ่งสามัญชนทั่ว ๆ ไปพอจะเข้าใจถึงสภาพของความเสียหายและค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้วและจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้คดีอย่างใด ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ เป็นเรื่องที่โจทก์จะได้นำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยทั้งสองเรื่องค่าเสียหายนั้นปรากฏว่าโจทก์ได้ขอมาท้ายฟ้องเป็นจำนวนเงินถึง 5 แสนบาทเศษแต่ศาลชั้นต้นได้กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ เพียง 160,000 บาท เมื่อพิเคราะห์ข้อนำสืบของพยานโจทก์ประกอบภาพถ่ายตามเอกสารหมาย จ.3 แล้วเห็นว่าค่าเสียหายที่ศาลกำหนดให้นั้นเหมาะสมแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน