แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้เป็นอักษรโรมันคำว่า TASTE อยู่เหนือรูปปลา ภายในรูปอาร์ม การจดทะเบียนโจทก์ไม่ถือเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันคำว่า TASTE ทั้งรวมหรือแยกกันแต่ลำพังจากรูปปลา อาร์มซึ่งการจดทะเบียนได้ระบุไว้ด้วยว่า ไม่ให้สิทธิแก่ผู้ขอจดทะเบียนแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันคำว่า TASTEทั้งรวมหรือแยกกันตามลำพังจากรูปปลาอาร์ม ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเฉพาะเครื่องหมายการค้าตามที่จดทะเบียนไว้เท่านั้นกล่าวคือ ต้องเป็นอักษรโรมันคำว่า TASTE อยู่เหนือรูปปลาภายในรูปอาร์มเครื่องหมายการค้าที่มีแต่เพียงอักษรโรมันอย่างเดียวใช้คำว่า TASTE หรือการใช้อักษรไทยคำว่า เทสท์ จึงไม่เป็นของโจทก์ที่จะมีสิทธิแต่ผู้เดียวตามความหมายของมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 โจทก์จึงนำคดีสู่ศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ ไม่ได้จดทะเบียนนั้นไม่ได้ ตามมาตรา 29
ความตอนท้ายของมาตรา 19 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2504 มาตรา 6 วรรคแรกที่ว่าคำแสดงปฏิเสธอันลงไว้ในทะเบียนนั้นไม่กระทบสิทธิแห่งเจ้าของโดยประการอันมิได้เป็นปัญหาเนื่องแต่การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เจ้าของให้คำแสดงปฏิเสธนั้นหมายถึงสิทธิประการอื่นเช่นสิทธิฟ้องร้องคดีซึ่งจำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ดังมีบัญญัติไว้ในมาตรา 29 วรรคสอง เป็นต้น แต่โจทก์มิได้ฟ้องโดยอาศัยสิทธิประการอื่น
เครื่องหมายการค้าโจทก์ใช้ตัวเอนว่า ‘TASTE’ และยังมีอักษรตัวตรงในบรรทัดล่างว่า ‘MODERNFROMU.S.A.’ ส่วนเครื่องหมายการค้าจำเลยแม้จะเป็นอักษรโรมันคำว่า TASTE แต่ก็เป็นอักษรตัวตรงและบรรทัดต่อไปใช้อักษรไทยตัวใหญ่กว่าว่า ‘เทสท์’ โดยมีอักษรไทยบรรทัดถัดไปอีกว่า’23 บางลำภู’ อันเป็นการแตกต่างกันเห็นได้ชัดแม้แต่ชื่อร้านของจำเลยก็ใช้เป็นภาษาไทยว่า เทสท์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อสิทธิของโจทก์แต่ประการใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2508 โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า TASTE (เทสท์) และรูปปลา ภายในกรอบรูปอาร์มต่อกรมทะเบียนการค้า สำหรับใช้กับสินค้าจำพวก 38 คือ เสื้อเชิ้ต เสื้อฮาวาย ฯลฯ โจทก์ได้ใช้ชื่อTASTE แต่เพียงอย่างเดียวโดยทำแผ่นผ้าเป็นชื่อ TASTE เย็บติดกับสินค้า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ เอาชื่อหรือข้อความคำว่า TASTE (เทสท์) ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่โจทก์จดทะเบียนไว้และมอบให้บริษัทราชธานี (เมโทร) จำกัด ไปใช้เป็นชื่อร้านเป็นภาษาไทยว่า เทสท์ และเอาคำว่า TASTE (อักษรโรมัน) ไปใช้เป็นชื่อเสื้อเชิ้ตและเสื้อฮาวายที่จำเลยผลิตจำหน่าย ขอห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อ TASTE (เทสท์) และให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ได้ทำคำร้องขอให้จดคำแสดงปฏิเสธในการจดทะเบียนโดยมีข้อความว่า การจดทะเบียนรายนี้ไม่ถือเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันคำว่า TASTE (เทสท์) ทั้งรวมกันหรือแยกกันตามลำพังจากรูปปลา อาร์ม ดังนั้น บุคคลทั่วไปรวมทั้งจำเลยจึงมีสิทธิจะนำคำว่าTASTE (เทสท์) ไปใช้ได้ ฯลฯ
วันชี้สองสถาน โจทก์แถลงรับว่า ในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ได้ระบุไว้ในคำร้องขอจดทะเบียนว่า โจทก์ไม่ถือว่าเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันคำว่าเทสท์รวมกันหรือแยกกันจากรูปปลา อาร์ม
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยาน พิพากษาว่าตามทะเบียนโจทก์ไม่มีสิทธิจะใช้ชื่อคำว่า TASTE แต่ผู้เดียวในสินค้าของโจทก์ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อหาของโจทก์คือ จำเลยได้ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้เป็นอักษรโรมันคำว่า TASTE อยู่เหนือรูปปลา ภายในรูปอาร์ม การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นี้ โจทก์ไม่ถือเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันคำว่า TASTE ทั้งรวมหรือแยกกันแต่ลำพังจากรูปปลา อาร์ม ซึ่งการจดทะเบียนได้ระบุไว้ด้วยว่า ไม่ให้สิทธิแก่ผู้ขอจดทะเบียนแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันคำว่า TASTE ทั้งรวมหรือแยกกันตามลำพังจากรูปปลา อาร์ม ตามภาพถ่ายหนังสือคู่มือรับจดทะเบียนท้ายฟ้อง ฉะนั้นโจทก์จึงมีสิทธิเฉพาะเครื่องหมายการค้าตามที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น กล่าวคือต้องเป็นอักษรโรมันคำว่า TASTE อยู่เหนือรูปปลา ภายในรูปอาร์ม เครื่องหมายการค้าที่มีแต่เพียงอักษรโรมันอย่างเดียวใช้คำว่า TASTE หรือการใช้อักษรไทยคำว่า เทสท์ จึงไม่เป็นของโจทก์ที่จะมีสิทธิแต่ผู้เดียวตามความหมายของมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 โจทก์จึงนำคดีสู่ศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นไม่ได้ ตามมาตรา 29
ส่วนบทบัญญัติมาตรา 19 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2504 วรรคแรก ซึ่งมีความว่า “ถ้าในเครื่องหมายการค้ามีสิ่งใดที่ใช้กันสามัญในการค้าขายหรือมีลักษณะไม่บ่งเฉพาะว่าเป็นของสินค้านั้น ก่อนที่นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนหรือไม่ นายทะเบียนจะสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวที่จะใช้ส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนแห่งเครื่องหมายนั้นหรือทั้งหมดหรือบางภาคแห่งสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายที่นายทะเบียนเห็นว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ควรเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว หรือจะสั่งให้แสดงปฏิเสธอย่างอื่นตามที่เห็นว่าต้องแสดง เพื่อกำหนดเขตแห่งสิทธิของเจ้าของในการจดทะเบียนนั้นก็ได้ แต่คำแสดงปฏิเสธอันลงไว้ในทะเบียนนั้นไม่กระทบสิทธิแห่งเจ้าของโดยประการอันมิได้เป็นปัญหาเนื่องแต่การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เจ้าของให้คำแสดงปฏิเสธนั้น” ความตอนท้ายของบทบัญญัตินี้หมายถึงสิทธิประการอื่น เช่น สิทธิฟ้องร้องคดีซึ่งจำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ดังมีบัญญัติไว้ในมาตรา 29 วรรคสอง เป็นต้น โจทก์มิได้ฟ้องโดยอาศัยสิทธิประการอื่น หากแต่กล่าวหาว่าจำเลยละเมิดต่อสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งโจทก์จดทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น
อย่างไรก็ดี เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ใช้ที่ปรากฏตามรูปถ่ายท้ายฟ้องเป็นอักษรโรมันใช้ตัวเอนว่า “TASTE” และยังมีอักษรตัวตรงในบรรทัดล่างว่า “Modern from U.S.A.” ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยใช้ปรากฏตามรูปถ่ายท้ายฟ้อง แม้จะเป็นอักษรโรมันคำว่า TASTE แต่ก็เป็นอักษรตัวตรง และบรรทัดต่อไปใช้อักษรไทยตัวใหญ่คำว่า “เทสท์” โดยมีอักษรไทยบรรทัดถัดไปอีกว่า “23 บางลำภู” อันเป็นการแตกต่างกันเห็นได้ชัด แม้แต่ชื่อร้านของจำเลยก็ใช้เป็นภาษาไทยว่า เทสท์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อสิทธิของโจทก์แต่ประการใด
พิพากษายืน