คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

วันที่ 2 เมษายน 2546 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปช่วยทำงานที่โรงแรมสีดา รีสอร์ท นครนายก มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2546 และวันที่ 21 เมษายน 2546 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาประจำตัวกรรมการผู้จัดการและช่วยงานผู้จัดการทั่วไปในการบริหารงานพนักงานฝ่ายขายที่โรงแรมดังกล่าว โดยให้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิมและอัตราค่าจ้างเท่าเดิม แม้จะไม่ได้ค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์แต่ก็ไม่ได้ตัดค่าจ้าง เพราะเป็นเงินสวัสดิการที่พนักงานฝ่ายขายเท่านั้นมีสิทธิที่จะได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ทำงานอยู่ในฝ่ายขาย จึงไม่มีสิทธิได้ค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ ส่วนอำนาจบังคับบัญชาสั่งงานผู้ใต้บังคับบัญชานั้นจะมีหรือไม่มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ทำ แม้จะมีอำนาจบังคับบัญชาลดน้อยลงก็มิใช่ข้อที่จะถือว่าเป็นการลดตำแหน่งเสมอไป การที่จำเลยย้ายโจทก์ไปทำงานดังกล่าว จึงเป็นอำนาจบริหารของจำเลยที่จะกระทำได้คำสั่งของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยออกคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานที่โรงแรมสีดา รีสอร์ท นครนายก ในช่วงสงกรานต์ซึ่งมีลูกค้ามาก จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม แต่โจทก์ไม่ยอมไปทำงานตามคำสั่งดังกล่าวจำเลยจึงออกหนังสือเตือนโจทก์ ต่อมาจำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาประจำตัวกรรมการผู้จัดการและช่วยทำงานผู้จัดการทั่วไป ในการบริหารงานฝ่ายขายที่โรงแรมดังกล่าว โดยให้สวัสดิการด้านที่พักและอาหารตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยด้วยซึ่งเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม แต่โจทก์ก็ไม่ยอมไปทำงานตามคำสั่งของจำเลยอีก เมื่อการฝ่าฝืนในครั้งหลังมีลักษณะเดียวกันกับการฝ่าฝืนตามหนังสือเตือนครั้งแรก จึงเป็นการกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่โจทก์กระทำผิดครั้งแรก จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) และเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย
จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2544 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 34,000 บาท เป็นเงิน 29,500 บาท ค่าน้ำมันรถ 4,000 บาท ค่าโทรศัพท์ 500 บาท จำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2546 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่เคยตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากจำเลยมีเงื่อนไขให้โจทก์ทำงานเพิ่มยอดรายได้ให้หลายเท่าตัว เมื่อโจทก์ชี้แจงและอธิบายถึงความเป็นไปได้ตามสภาพทำให้จำเลยไม่พอใจ และเสนอให้โจทก์ลาออก แต่โจทก์ไม่ยอมลาออกเพราะเห็นว่าไม่มีความผิด จำเลยจึงปรับเปลี่ยนตำแหน่งและลดเงินรายได้ของโจทก์ การเลิกจ้างของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องตกงานขาดรายได้ ทั้งมีภาระเลี้ยงดูบุตรในวัยเรียนและทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง โจทก์ไม่ประสงค์จะกลับเข้าทำงานกับจำเลยต่อไป ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 2 เดือน เป็นเงิน 68,000 บาท โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 102,000 บาท และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 37 วัน เป็นเงิน 41,933 บาท และโจทก์มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน โจทก์ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีไปแล้ว 2 วันจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิอีก 4 วัน เป็นเงิน 4,533 บาท และจำเลยคงค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2546 เป็นเงิน 17,099 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 41,933 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 68,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ค้าจ้างค้างจ่าย 17,099 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 4,533 บาท ค่าชดเชย 102,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยรับว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งสุดท้ายเป็นที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ แต่โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 29,500 บาท ไม่ได้รับค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ตามที่อ้าง เดิมขณะโจทก์มีตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายขาย โจทก์เข้าทำงานสายหลายครั้ง ไม่มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ตั้งใจทำงานจึงไม่สามารถทำยอดขายได้ตามที่ให้สัญญาไว้ และยอดขายโดยเฉลี่ยต่ำกว่าเป้าหมายมาก เดือนตุลาคม 2545 จำเลยมอบหมายให้โจทก์เป็นผู้จัดทำประมาณการรายได้ในปีถัดไป เพื่อจำเลยจะนำเสนอสถาบันการเงินขอกู้เงินมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนและขยายโครงการของจำเลย โดยจำเลยจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลงานการจัดทำประมาณการรายได้ดังกล่าวของโจทก์หลายครั้ง แต่โจทก์แจ้งว่าไม่สามารถจัดทำได้ เนื่องจากไม่สามารถร่วมงานกับผู้จัดการทั่วไปได้ จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2544 โจทก์ก็ไม่สามารถจัดทำให้แล้วเสร็จ ปลายเดือนธันวาคม 2545 จำเลยจึงมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ ค่าจ้างเดือนละ 29,500 บาท วันที่ 2 เมษายน 2546 เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีลูกค้าใช้บริการโรงแรมเป็นจำนวนมาก จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์ไปช่วยงานที่โรงแรมสีดา รีสอร์ท นครนายก ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2546 แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามอ้างว่าต้องรับผิดชอบดูแลครอบครัว อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย จำเลยจึงตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือ วันที่ 21 เมษายน 2546 จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาประจำตัวกรรมการผู้จัดการและช่วยงานผู้จัดการทั่วไปในการบริหารงานพนักงานฝ่ายขาย ณ โรงแรมสีดา รีสอร์ท นครนายก โดยให้เดินทางไปตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2546 และให้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2546 แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยซึ่งได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว วันที่ 24 เมษายน 2546 จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการที่ถูกเลิกจ้างและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการโรงแรมชื่อ โรงแรมสีดา รีสอร์ท นครนายก ตั้งอยู่อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก และมีสำนักงานสาขาในกรุงเทพมหานคร โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2544 ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายขาย ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.6 โดยปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สำนักงานสาขาในกรุงเทพมหานคร ได้ค่าจ้างเดือนละ 29,500 บาท ค่าน้ำมันรถเดือนละ 4,000 บท และค่าโทรศัพท์เดือนละ 500 บาท ต่อมาจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2546 ตามเอกสารหมาย ล.12 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การที่จำเลยได้ย้ายโจทก์จากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายขาย ไปเป็นที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการโดยมีตำแหน่งและค่าจ้างเท่าเดิมแต่ตัดค่าน้ำมันรถเดือนละ 4,000 บาท และค่าโทรศัพท์เดือนละ 500 บาท ให้ทำงานประจำสำนักงาน ไม่มีอำนาจลงนามแทนจำเลย ไม่มีอำนาจขอเรียกตรวจดูผู้ใช้เอกสารต่าง ๆ เท่ากับลดอำนาจหน้าที่ของโจทก์โดยสิ้นเชิง เป็นการผิดต่อสภาพการจ้าง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า นายจ้างมีอำนาจบริหารที่จะแต่งตั้งโยกย้ายลูกจ้างให้ทำงานที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของลูกจ้าง ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่กิจการของนายจ้าง แต่ไม่ให้ลดตำแหน่งหรือลดค่าจ้างของลูกจ้าง คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2546 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปช่วยทำงานที่โรงแรมสีดา รีสอร์ท นครนายก มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2546 ตามเอกสาร ล.8 และวันที่ 21 เมษายน 2546 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาประจำตัวกรรมการผู้จัดการและช่วยงานผู้จัดการทั่วไปในการบริหารงานพนักงานฝ่ายขายที่โรงแรมสีดา รีสอร์ท นครนายก โดยให้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิมและอัตราค่าจ้างเท่าเดิมแม้จะไม่ได้ค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์แต่ก็ไม่ได้ตัดค่าจ้าง เพราะค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์เป็นเงินสดสวัสดิการที่พนักงานฝ่ายขายเท่านั้นมีสิทธิที่จะได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ทำงานอยู่ในฝ่ายขาย จึงไม่มีสิทธิได้ค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ ส่วนอำนาจบังคับบัญชาสั่งงานผู้ใต้บังคับบัญชานั้นจะมีหรือไม่มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ทำ แม้จะมีอำนาจบังคับบัญชาลดน้อยลง ก็มิใช่ข้อที่จะถือว่าเป็นการลดตำแหน่งเสมอไป การที่จำเลยย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งใหม่ที่ไม่ต่ำกว่าเดิมและไม่ลดค่าจ้าง จึงเป็นอำนาจบริหารของจำเลยที่จะกระทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดต่อสภาพการจ้างคำสั่งของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสองว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) บัญญัติว่า “ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด” การกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือน หมายความว่า ลูกจ้างได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้างในกรณีไม่ร้ายแรง ซึ่งนายจ้างได้ตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือ ต่อมาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างกระทำผิด ลูกจ้างนั้นได้ฝ่าฝืนอีกในลักษณะเดียวกับที่ถูกนายจ้างเตือนนั้น คดีนี้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2546 จำเลยได้ออกคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานที่โรงแรมสีดา รีสอร์ท นครนายก ในช่วงสงกรานต์ซึ่งมีลูกค้ามาก จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม แต่โจทก์ไม่ยอมย้ายไปทำงานตามคำสั่งของจำเลยดังกล่าว ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม จำเลยได้ออกหนังสือเตือนโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.10 ต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2546 จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาประจำตัวกรรมการผู้จัดการและช่วยทำงานผู้จัดการทั่วไปในการบริหารงานฝ่ายขายที่โรงแรมสีดา รีสอร์ท นครนายก ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2546 โดยให้สวัสดิการด้านที่พักและอาหารตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยด้วย ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ได้ลดตำแหน่งและค่าจ้างของโจทก์ อีกทั้งให้สวัสดิการแก่โจทก์ด้วย ซึ่งได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม แต่โจทก์ก็ไม่ยอมไปทำงานตามคำสั่งของจำเลยดังกล่าวอีก เมื่อการฝ่าฝืนในครั้งหลังนี้คือโจทก์ไม่ยอมไปทำงานตามคำสั่งย้ายซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับการฝ่าฝืนตามหนังสือเตือนครั้งแรกตามเอกสารหมาย ล.10 จึงเป็นการกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่โจทก์กระทำผิดครั้งแรก จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) และการกระทำผิดของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสุดท้าย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ทุกข้อของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share