แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจตามกฎหมายที่จะยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรเพื่อให้ได้ชำระภาษีอากรค้างได้โดยมิต้องได้รับมอบอำนาจจากกรมสรรพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมมีอำนาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากกรมสรรพากรเช่นเดียวกัน
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองไว้เด็ดขาดแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นค่าภาษีอากรค้างจำนวน 5,499,692.44 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายนี้ได้รับชำระหนี้เป็นจำนวนเงิน 5,499,692.44 บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาแต่เพียงว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายมีอำนาจยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าลูกหนี้ที่ 1 ค้างชำระภาษีอากรโดยไม่ชำระภายในกำหนดและไม่อุทธรณ์จึงเป็นภาษีอากรค้าง แม้ประมวลรัษฎากรมาตรา 5 จะบัญญัติให้กรมสรรพากรมีอำนาจหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับภาษีอากรประเภทนี้ก็ตาม แต่ตามมาตรา 12 วรรคสองบัญญัติว่า “เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักร” กับวรรคสามบัญญัติว่า “ในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอมีอำนาจเช่นเดียวกับอธิบดีตามวรรคสองภายในเขตท้องที่จังหวัดหรืออำเภอนั้น” จึงเป็นกรณีพิเศษเพื่อการได้รับชำระภาษีอากรในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจอย่างเดียวกับอธิบดีกรมสรรพากรที่จะสั่งยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ภายในเขตจังหวัด ในเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจตามกฎหมายที่จะยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรเพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้างได้โดยมิต้องได้รับมอบอำนาจจากกรมสรรพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมมีอำนาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากกรมสรรพากรเช่นเดียวกัน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งและคำพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน