คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4325/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จำเลยที่ 3 ร้องขอให้เพิกถอนการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่คำร้องขอเพิกถอนดังกล่าวของจำเลยที่ 3 เป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด” และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้” ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ฎีกาโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 1 จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 2,000,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 25 ปี และปรับ 1,500,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 3 วันที่ 29 เมษายน 2553 ศาลชั้นต้นออกหมายปล่อยตัวจำเลยที่ 3 โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ วันที่ 5 กรกฎาคม 2553 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอคัดสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นพร้อมกับแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 3 ระบุที่อยู่ว่า 50/2 หมู่ที่ 5 ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 26 ตุลาคม 2555 ส่งหมายนัดให้แก่จำเลยที่ 3 โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังบ้านเลขที่ 50/2 ดังกล่าว มีบุคคลซึ่งอยู่ในบ้านระบุชื่อ วัลภา เกี่ยวพันกับผู้รับโดยเป็นภริยาเป็นผู้รับหมายนัดเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2555 เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 3 ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นออกหมายจับวันที่ 26 ตุลาคม 2555 ให้จำเลยที่ 3 มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 พ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นออกหมายจับยังจับตัวจำเลยที่ 3 ไม่ได้ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลับหลังจำเลยที่ 3 ที่ให้แก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 หลังจากลดโทษหนึ่งในสามแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน และปรับ 2,000,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 3 เพื่อบังคับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ต่อมาในวันที่ 19 กันยายน 2559 เจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามนำตัวจำเลยที่ 3 มาส่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสอบว่าเป็นจำเลยที่ 3 คดีนี้จริง จึงให้รับตัวไว้และอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 3 ฟังแล้ว และออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า การส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 3 และการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลับหลังจำเลยที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 โต้แย้งผลการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการเฉพาะมาตั้งแต่ในศาลชั้นต้นจนถึงชั้นฎีกา ส่วนฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอถอนและศาลอนุญาตแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 คงมีเพียงว่า การส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 21 กันยายน 2555 ให้จำเลยที่ 3 และการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 ให้จำเลยที่ 3 ฟังชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จำเลยที่ 3 ร้องขอให้เพิกถอนการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่คำร้องขอเพิกถอนดังกล่าวของจำเลยที่ 3 เป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ดังนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด” และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้” ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ฎีกาโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 3

Share