คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4316/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่สาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐบริเวณชายแดนประเทศไทยและประเทศมาเลเซียด้วยการเข้าไปปลูกบ้านพักอาศัย กว้างประมาณ 7 เมตร ยาว 9 เมตร ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองปลูกสร้างบ้านพักอาศัยกว้าง 20 เมตร ยาว 7 เมตร ในที่ดินรกร้างว่างเปล่าบริเวณแนวพรมแดนประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐ วันเวลาที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดคดีนี้เป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิดคดีก่อนและจำนวนเนื้อที่ดินที่จำเลยบุกรุกก็มีจำนวนแตกต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง แต่ไม่เป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 362 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งประสงค์ลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2546 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2546 เวลากลางวัน ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองปลูกสร้างบ้านพักอาศัยกว้าง 20 เมตร ยาว 7 เมตร ในที่ดินรกร้างว่างเปล่าบริเวณแนวพรมแดนประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย หมู่ที่ 7 ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐโดยจำเลยไม่ได้มีสิทธิครอบครองและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เหตุเกิดที่ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1, 9, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 90, 362 ให้จำเลยและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินพร้อมทั้งรื้อสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินที่บุกรุกตามกฎหมาย และบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาเรื่องก่อนเข้ากับโทษในคดีนี้ด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน ให้จำเลยและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินพร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน ส่วนที่โจทก์ขอให้บวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2556/2545 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนั้น เห็นว่า โทษจำคุกของจำเลยคดีนี้เหมาะสมกับลักษณะความผิดของจำเลยแล้ว จึงไม่บวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้เข้ากับโทษในคดีนี้ ให้ยกคำขอ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำโทษจำคุก 3 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2556/2545 ของศาลชั้นต้น บวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ เป็นจำคุก 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาข้อกฎหมายประการแรกว่าฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2556/2545 ของศาลชั้นต้น นั้น เห็นว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันเวลาใดไม่ปรากฏชัดปี 2537 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2545 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่สาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐบริเวณชายแดนประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย หมู่ที่ 7 ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ด้วยการเข้าไปปลูกบ้านพักอาศัยสำหรับจำเลยและบริวาร กว้างประมาณ 7 เมตร ยาว 9 เมตร ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2546 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2546 เวลากลางวัน ทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืนติดต่อกัน จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองปลูกสร้างบ้านพักอาศัยกว้าง 20 เมตร ยาว 7 เมตร ในที่ดินรกร้างว่างเปล่าบริเวณแนวพรมแดนประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย หมู่ที่ 7 ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐ วันเวลาที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดคดีนี้เป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิดคดีก่อน และจำนวนเนื้อที่ดินที่จำเลยบุกรุกก็มีจำนวนแตกต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
อนึ่งคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง แต่ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งประสงค์ลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ด้วยจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง ยกฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share