คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4315/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำแถลงคัดค้านการชี้สองสถานว่าจำเลยเห็นว่าคดีควรมีประเด็นเพิ่มขึ้นอีกว่าทรัพย์มรดกของ ต. ได้แบ่งแก่ทายาทเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการใช้สิทธิอุทธรณ์หรือ ฎีกาคำแถลงของจำเลยดังกล่าวมิใช่กรณีร้องขอให้ศาลเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่เป็นกรณีที่จำเลยแถลงคัดค้านการกำหนดประเด็นของศาลชั้นต้นในการชี้สองสถานว่ายังมีประเด็นเพิ่มอีกอันเป็นการโต้แย้งคำสั่งตามมาตรา 226 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจำเลยย่อมอุทธรณ์ฎีกาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายตากับนางอุสาห์ เผ่าไทย เป็นสามีภริยากันแต่ไม่ปรากฏว่าได้จดทะเบียนสมรสหรือไม่และไม่มีบุตรด้วยกัน นางอุสาห์มีบุตรกับสามีคนเก่า ๑ คนคือจำเลย หลังจากนางอุสาห์ถึงแก่กรรม นายตามาได้โจทก์เป็นภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันแต่ไม่มีบุตรด้วยกัน นายตาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๑๘ นายตากับนางอุสาห์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ๑ แปลงและบ้าน ๑ หลัง ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ขอรับมรดกที่ดินและบ้านดังกล่าวแต่ผู้เดียวโดยแจ้งว่าจำเลยเป็นบุตรของนายตากับนางอุสาห์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านเฉพาะส่วนของนายตา รวมราคา ๒๗๕, ๐๐๐ บาท และให้โอนมาเป็นของโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายตา เผ่าไทยหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีปลอม ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายตาและนางอุสาห์ หลังจากนายตาถึงแก่กรรมโจทก์กับจำเลยตกลงกันให้โจทก์รับส่วนแบ่งมรดกที่เป็นเงินสดโดยโจทก์จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินและบ้านอันเป็นทรัพย์มรดกของนายตากับนางอุสาห์ โจทก์ฟ้องคดีภายหลังนายตาถึงแก่กรรมเกินกว่า ๑ ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ ๓ ใน ๘ ส่วนภายใน ๓๐ วัน คงเหลือเป็นของจำเลย ๕ ใน ๘ ส่วน ถ้าแบ่งกันไม่ได้ให้ประมูลราคาระหว่างกันเอง หากตกลงกันไม่ได้ก็ให้นำที่ดินและบ้านพิพาทออกขายทอดตลาดเหลือเงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งกันระหว่างโจทก์กับจำเลยตามส่วนดังกล่าวหากจำเลยไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยประเด็นคัดค้านการชี้สองสถานของจำเลยเป็นการไม่ชอบนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๖ โดยกำหนดให้โจทก์นำสืบก่อนแล้วให้จำเลยนำสืบแก้ ปรากฏว่าได้มีการสืบพยานโจทก์ และจำเลยสืบพยานแล้วแถลงไม่ติดใจสืบพยานต่อไปเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๖ ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๖ แต่ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๖ จำเลยยื่นคำแถลงคัดค้านการชี้สองสถานว่า จำเลยเห็นว่า คดีควรมีประเด็นเพิ่มขึ้นอีกว่า ทรัพย์มรดกของนายตาได้แก่ทายาทเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันนั้นว่า การคัดค้านการชี้สองสถานเป็นการคัดค้านตามมาตรา ๒๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ต้องทำเป็นคำร้องทั้งต้องยกขึ้นว่ากล่าวไม่ช้ากว่า ๘ วัน นับแต่วันทราบข้อความ การคัดค้านของจำเลยในกรณีนี้จึงขัดต่อกฎหมายให้ยกคำแถลง และศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แต่จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำแถลงของจำเลยดังกล่าวมิใช่กรณีร้องขอให้ศาลเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา ๒๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่เป็นกรณีที่จำเลยแถลงคัดค้านการกำหนดประเด็นของศาลชั้นต้นในการชี้สองสถานว่ายังมีประเด็นเพิ่มอีกว่า ทรัพย์มรดกของนายตาได้แบ่งแก่ทายาทเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ อันเป็นการโต้แย้งคำสั่งตามมาตรา ๒๒๖ (๒) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จำเลยย่อมอุทธรณ์ฎีกาได้ และเมื่อโจทก์จำเลยต่างนำสืบประเด็นข้อนี้ไว้แล้ว ก็ไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาอีก ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปทีเดียวและศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าไม่ได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกกัน แต่ฟังได้ว่าโจทก์มอบให้จำเลยดูแลที่ดินและบ้านพิพาท โดยโจทก์ยังไปที่บ้านพิพาทเสมอ ถือว่าโจทก์กับจำเลยครอบครองที่ดินและบ้านพิาพทอันเป็นทรัพย์มรดกร่วมกันมา แม้โจทก์จะฟ้องคดีเกิน ๑ ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share