คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4309/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 โดยมิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในผลแห่งละเมิดของ ค. ซึ่งเป็นลูกจ้างอีกคนหนึ่งของจำเลยที่ 2 ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้กระทำละเมิดเสียแล้ว ก็ไม่มีหนี้ที่จะให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้อีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 แต่พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์โดยอ้างว่าต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ ค. ซึ่งเป็นลูกจ้างและกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการพิพากษานอกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ตู้โดยสารหมายเลขทะเบียน ม-2905 เชียงราย จากนายอนิรุทธิ์ เงินคำ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2541 เวลา 19 นาฬิกาซึ่งอยู่ในระหว่างอายุคุ้มครองตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ผ-4447 เชียงราย ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อโดยจำเลยที่ 1 ได้ขับรถถอยหลังชนรถคันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินจำนวน 12,300 บาท จำเลยที่ 1ต้องรับผิดในฐานผู้ทำละเมิด ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 12,915 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 12,300 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ในวันเกิดเหตุหลังเลิกงานจำเลยที่ 1 ทราบว่ารถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีนายคำน้อย แสงวิชัย เป็นผู้ขับเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ แต่เนื่องจากนายคำน้อยไม่มีใบอนุญาตขับรถพนักงานของโจทก์จึงแนะนำให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อในบันทึกยอมรับผิดแทนนายคำน้อย โดยอ้างว่าเพื่อจะได้นำไปเป็นหลักฐานประกอบการขออนุมัติสั่งซ่อมรถคันที่เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงยอมลงชื่อในบันทึกความรับผิดดังกล่าวโดยที่ตนเองมิได้เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จริง แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาหลังเลิกงานแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 มิใช่การกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงหาจำต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยไม่ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 7,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 กันยายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ตู้โดยสารหมายเลขทะเบียน ม-2905 เชียงราย จากนายอนิรุทธิ์ เงินคำ มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2541 ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2542 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ผ-4447 เชียงราย และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 กับนายคำน้อย แสงวิชัย เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2541 เวลา 19 นาฬิกา นายคำน้อยขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ผ-4447 เชียงราย ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อถอยหลังชนรถตู้โดยสารที่โจทก์รับประกันภัยไว้เป็นเหตุให้กันชนหน้า ไฟส่องสว่างด้านซ้าย ไฟเลี้ยวด้านซ้าย และกระจกหน้ารถดังกล่าวได้รับความเสียหาย ภายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เข้ามายอมรับว่าเป็นความผิดของตน พร้อมกับตกลงทำบันทึกยอมรับผิดไว้ต่อพนักงานโจทก์ โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันแล้ว โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันมาเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระเงินไป

พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ข้อกฎหมายว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจึงหลุดพ้นความรับผิดไปด้วย แม้นายคำน้อยเป็นบุคคลภายนอกจะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และเป็นผู้กระทำละเมิดก็เป็นเรื่องนอกคำฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การของจำเลยทั้งสอง คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดตามที่โจทก์ฟ้อง แต่นายคำน้อย ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 อีกคนหนึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 โดยมิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในผลแห่งละเมิดของนายคำน้อย ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เสียแล้ว ก็ไม่มีหนี้ที่จะให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้อีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 แต่พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์โดยอ้างว่าต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่นายคำน้อยซึ่งเป็นลูกจ้างและกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 นั้น จึงเป็นการพิพากษานอกฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share