คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4308/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยยักยอกทรัพย์ พนักงานสอบสวนสอบสวนจำเลยแล้วมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยในข้อหายักยอก แต่โจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยตามที่พนักงานสอบสวนได้สอบสวนเป็นความผิดฐานฉ้อโกงจึงฟ้องจำเลยในข้อหาฉ้อโกง กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องความเห็นของโจทก์กับพนักงานสอบสวนแตกต่างกันในการปรับบทกฎหมายกับการกระทำของจำเลย ถือว่าพนักงานสอบสวนได้สอบสวนในข้อหาฉ้อโกงแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๓๔๑ และสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน ๔๕๐,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนชุมชนคลองจั่น จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.วิ.อ. (ที่ถูกเป็น ป.อ.) มาตรา ๓๕๒ วรรคสอง ลงโทษจำคุก ๑๑ เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน ๔๕๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ร่วม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย ๓,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด ๒ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยในข้อหายักยอกและมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยในข้อหายักยอก แต่โจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยตามที่พนักงานสอบสวนได้สอบสวนแล้วนั้นเป็นความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์จึงฟ้องจำเลยในข้อหาฉ้อโกง เป็นเรื่องความเห็นของโจทก์กับพนักงานสอบสวนแตกต่างกันในการปรับบทกฎหมายกับการกระทำของจำเลย กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าพนักงานสอบสวนได้สอบสวนในข้อหาฉ้อโกงแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน.

Share