คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4305/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 5400 มี ส.และอ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาโจทก์ และ ร. กับพวกได้ซื้อในส่วนของ อ. โดยจดทะเบียนลงชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดกับพวก แต่มิได้มีการแบ่งแยกโฉนดที่ดิน ต่อมา ร.ได้ฟ้องเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมขอให้แบ่งแยกโฉนด แล้วมีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามยอมให้แบ่ง ที่ดินดังกล่าวเป็น 3 แปลง คือแปลงโฉนดเลขที่ 94774,94775และ 5400 โดยไม่มีการตกลงให้กันส่วนเป็นถนนให้แต่ละแปลงออกสู่ถนนสาธารณะ ต่อมาได้มีการจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นเหตุให้ที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 94775 และ 5400 ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกไปโดยมีทางออกสู่ถนนสาธารณะโดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 เมื่อทางพิพาทอยู่บนที่ดินของจำเลยตามโฉนดที่ดินเลขที่ 94774 ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสามนั้น ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ เมื่อปรากฏว่าสภาพถนนลูกรังที่มีและใช้อยู่ในขณะพิพาทขนาดกว้าง 5 เมตรย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าทางพิพาทกว้างประมาณ 5 เมตร พอควรแก่ความจำเป็นของโจทก์แล้ว หาจำต้องมีไหล่ทางข้างละ1 เมตร ไม่ เมื่อโจทก์มีสิทธิใช้ทางจำเป็นในที่ดินของจำเลย โดยอำนาจของกฎหมายแล้ว จำเลยก็ไม่จำต้องไปจดทะเบียนทางจำเป็น ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้ทางพิพาทจะตกเป็นทางจำเป็นตามกฎหมาย แต่กรรมสิทธิ์ที่จะครอบครองดูแลทางพิพาทก็ยังเป็นของจำเลย การที่มีผู้นำดินลูกรังมากองในทางพิพาท แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติให้สิทธิผู้มีสิทธิจะผ่านทางถ้าจำเป็นสามารถสร้างถนนผ่านทางได้ โดยจำเลยไม่มีสิทธิขัดขวางการปรับปรุงรักษาทางพิพาทนั้น ก็ตาม แต่กฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติถึงวิธีทำทางผ่านจะต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็น ทั้งต้องคำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดด้วย ดังนั้น การนำดินลูกรังมากองในทางพิพาท เป็นจำนวนมากพอสมควรโดยมิได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบ อาจมีการฉวยโอกาสเกลี่ยดินลูกรังขยายทับหน้าดินริมทางเพื่อให้สภาพผิวถนนลูกรังกว้างขึ้น จำเลยจึงมีสิทธิขัดขวางได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง กล่าวคือได้ปิดทางพิพาทโดยเอาไม้และลวดหนามมาปักกั้นทางเข้าออกในที่ดินของจำเลย ทำให้โจทก์ทั้งสองไม่สามารถใช้ทางพิพาทเดินและใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายโดยเฉพาะโจทก์ที่ 2 ซึ่งต้องใช้ทางพิพาทขนส่งวัสดุในทางการค้า ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนเสาไม้และรั้วลวดหนามบนทางพิพาทออกไปทั้งหมดหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้รื้อถอนเองโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นรายวันวันละ 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเปิดทางพิพาทให้โจทก์ทั้งสองใช้ได้ตามปกติ ห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนหรือขัดขวางการใช้ประโยชน์จากทางพิพาท ให้ทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 94774 ของจำเลยเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือให้จำเลยไปจดทะเบียนทางพิพาทดังกล่าวเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5400 และ 94775 ของโจทก์ที่ 1 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มิได้ใช้ทางพิพาทออกสู่ถนนสาธารณะเนื่องจากเจ้าของเดิมในที่ดินโฉนดเลขที่ 5400 ไม่ได้ทำทางออกสู่ถนนสาธารณะมาก่อนเพราะเป็นที่ว่างเปล่า เมื่อปี 2534 โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโดยได้นำดินลูกรังมาถมที่ดินจำเลยทำทางพิพาทกว้าง 4 เมตร ไปเชื่อมถนนในโฉนดเลขที่ 5399 โดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยจึงปักเสารั้วในที่ดินของจำเลยเพื่อป้องกันสิทธิของจำเลยโดยสุจริตจำเลยจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ การที่โจทก์ทั้งสองทำทางพิพาทในที่ดินจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเนื่องจากจำเลยได้ให้บุคคลอื่นเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 94774 ทั้งแปลง อัตราค่าเช่าเดือนละ 40,000 บาท โดยให้ผู้เช่าปรับปรุงถมที่ดินและพัฒนาที่ดิน เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ทำให้ไม่มีผู้เช่าที่ดินจากจำเลยอย่างไรก็ตามหากที่ดินของโจทก์ที่ 1 อยู่ในที่ล้อมไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ โจทก์จะต้องใช้ค่าทดแทนแก่จำเลย ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง และบังคับให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าขาดประโยชน์แก่จำเลยเป็นเงินเดือนละ 40,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไป และหากศาลพิพากษาให้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ก็ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยเป็นเงินปีละ 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไป
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสองเนื่องจากโจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทออกสู่ถนนสาธารณะมาก่อนจำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 94774 จำเลยมิได้เสียหาย หากจำเลยจะนำที่ดินออกให้บุคคลอื่นเช่า ผู้เช่าก็ย่อมทราบแล้วว่ามีทางพิพาทในที่ดิน การที่โจทก์ทั้งสองบำรุงรักษาทางพิพาทนั้นไม่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแต่อย่างใดกลับเป็นประโยชน์ต่อที่ดินของจำเลย นอกจากนี้ถนนลูกรังบนที่ดินโฉนดเลขที่ 5399 และ 89614 ไม่ได้เชื่อมต่อกันและโจทก์ทั้งสองไม่สามารถใช้ถนนลูกรังบนโฉนดเลขที่ 89614 ออกสู่ถนนสาธารณะได้ ทางพิพาทในที่ดินจำเลยจึงตกเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโจทก์ที่ 1 จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากโจทก์ทั้งสองเนื่องจากเดิมที่ดินของโจทก์ที่ 1 และจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันโดยมีทางพิพาทอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อแบ่งแยกและโอนต่อกันมาทำให้ที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถูกที่ดินจำเลยปิดกั้นอยู่ โดยทางพิพาทอยู่ในที่ดินจำเลย โจทก์ที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ถูกล้อมจึงมีสิทธิผ่านทางพิพาทในที่ดินจำเลยออกสู่ถนนสาธารณะได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนอย่างใด โจทก์ที่ 2ผู้มีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายและได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิใช้ทางพิพาทโดยไม่ต้องเสียทดแทนอย่างใด ๆ ด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อรั้วลวดหนามบนทางพิพาทออกไปทั้งหมด คำขอนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 2 และยกฟ้องแย้งของจำเลย
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 94775 และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 500 จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 94774 ตลอดแนวเขตด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ดินจำเลยจรดเขตที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ที่ 1มุมที่ดินด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ดินจำเลยติดกับถนนพระรามที่ 2 อันเป็นถนนสาธารณะทางพิพาทอยู่ในที่ดินของจำเลยจากถนนพระรามที่ 2 เลียบตามแนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปถึงที่ดินของโจทก์ที่ 1
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมที่ดินทั้ง 3 โฉนดดังกล่าวเป็นแปลงเดียวกัน คือ โฉนดเลขที่ 5400เนื้อที่ 21 ไร่ โดยมีเด็กหญิงสุนทร เนียมฉาย และนางสอิ้งเนียมฉาย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาส่วนของนางสอิ้งได้มีผู้ซื้อโดยจดทะเบียนลงชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดจำนวนหลายคนรวมทั้งโจทก์ที่ 1 และนางระเบียบ บูรณะบุตรโดยมิได้มีการแบ่งแยกโฉนดที่ดิน ต่อมานางระเบียบได้ฟ้องเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 8 คน ต่อศาลแพ่งขอให้แบ่งแยกโฉนด วันที่13 มกราคม 2525 มีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลแพ่งได้พิพากษาตามยอม สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมีใจความสำคัญว่าตกลงแบ่งที่ดินตามฟ้องเป็น 3 แปลง แปลงที่ 1เป็นของนางระเบียบจำนวน 7 ไร่ แปลงที่ 2 เป็นของจำเลยที่ 6ในคดีดังกล่าวจำนวน 10 ไร่ 2 งาน แปลงที่ 3 เป็นของจำเลยอื่นในคดีดังกล่าวรวม 7 คน จำนวน 3 ไร่ 2 งาน เนื้อที่ดินทั้ง 3 ส่วนนี้รวมกันเป็น 21 ไร่ ตรงตามเนื้อที่ในโฉนดขณะนั้น และจำนวนตรงตามแผนผังที่ดินแต่ละแปลง โดยไม่มีการตกลงให้กันส่วนเป็นถนนให้แต่ละแปลงออกสู่ถนนพระรามที่ 2 ส่วนแนวเส้นประเลียบแนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันออกไปจรดถนนพระรามที่ 2 นั้นเป็นส่วนที่อยู่นอกเขตที่ดินในคดีนี้และไม่ปรากฏว่าเป็นทางสาธารณะต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2533 จึงได้มีการจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 94775 และ 5400 ตามซึ่งโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะโจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกไปโดยมีทางออกสู่ถนนสาธารณะโดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 และข้อเท็จจริงได้ความพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายและตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 24 สิงหาคม 2535 ในการเดินเผชิญสืบของศาลชั้นต้นปรากฏว่าทางพิพาทอยู่บนที่ดินของจำเลยตามโฉนดที่ดินเลขที่ 94774 จึงฟังได้ว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่จำเลยฎีกาว่า สภาพที่ดินของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปภายหลังฟ้องคดีนี้แล้วโดยมีการฟ้องคดีและทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับที่ดินแปลงกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ที่ 1 เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ที่ 1 ไม่มีส่วนใดติดกับทางพิพาท โดยมีที่ดินแปลงที่แบ่งแยกไปคั่นอยู่นั้น เห็นว่าที่ดินทุกแปลงที่แบ่งแยกไปโจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะผ่านที่ดินซึ่งแยกไปนั้นไปสู่ทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการสุดท้ายว่าจำเลยปิดทางพิพาทเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่เห็นว่า แม้ทางพิพาทจะตกเป็นทางจำเป็นตามกฎหมาย แต่กรรมสิทธิ์ที่จะครอบครองดูแลยังเป็นของจำเลยการที่มีผู้นำดินลูกรังมากองในทางพิพาทตามภาพถ่ายหมาย ล.2 และ ล.3 โดยมิได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบ จำเลยย่อมไม่อาจทราบได้ว่าผู้นำดินลูกรังมากองในทางพิพาทมีวัตถุประสงค์ใดที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสาม ได้บัญญัติให้สิทธิผู้มีสิทธิจะผ่านทางถ้าจำเป็นสามารถสร้างถนนผ่านทางได้ ดินลูกรังที่มีผู้นำมากองมีเพียงเล็กน้อยมีลักษณะเป็นการปรับปรุงทางตามปกติจำเลยจึงไม่มีสิทธิขัดขวางการปรับปรุงบำรุงรักษาทางพิพาทได้นั้นเห็นว่า กฎหมายมาตราที่โจทก์ทั้งสองอ้างนั้นได้บัญญัติถึงวิธีทำทางผ่านจะต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็น ทั้งต้องคำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุดการนำดินลูกรังมากองในทางพิพาทเป็นจำนวนมากพอสมควร โดยมิได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบ อาจมีการฉวยโอกาสเกลี่ยดินลูกรังขยายทับหน้าดินริมทางเพื่อให้สภาพผิวถนนลูกรังกว้างขึ้น จำเลยจึงมีสิทธิขัดขวางได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
พิพากษายืน

Share