คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4302/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีเจตนาจะกระทำชำเราผู้เสียหาย จึงตัดสินใจเข้าฉุดตัวผู้เสียหายจากทางเดินเข้าไปในป่าข้างทางบริเวณที่เกิดเหตุแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายทันที แม้การที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจะเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายด้วย และการกระทำของจำเลยดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ต่อเนื่องกัน ก็ตาม แต่การที่จำเลยฉุดตัวผู้เสียหายจากทางเดินเข้าไปในป่าข้างทางที่เกิดเหตุ เป็นการแสดงเจตนาส่วนหนึ่งของจำเลย โดยมีเหตุจูงใจที่จะนำตัวผู้เสียหายไปกระทำชำเราอันเป็นการกระทำส่วนหนึ่งที่สำเร็จไปแล้วต่างหากจากการที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายดังนั้น ถึงแม้ป่าบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งจำเลยฉุดผู้เสียหายเข้าไปกระทำชำเราจะอยู่ไม่ไกลจากทางเดินที่ผู้เสียหายเดินอยู่ก่อนมากนัก ก็ถือได้ว่าจำเลยได้พาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรกแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277วรรคสอง, 284

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 277 วรรคสอง), 284 วรรคแรก เป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 13 ปี จำคุก 12 ปี ฐานพาเด็กหญิงไปเพื่อการอนาจารจำคุก 3 ปี รวมจำคุก 15 ปี คำรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 10 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก คงลงโทษจำคุกจำเลย 8 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยได้พาผู้เสียหายซึ่งขณะเกิดเหตุมีอายุยังไม่เกิน 13 ปี เข้าไปในที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นผู้เสียหายไปบอกนายบุญจันทร์ซึ่งเป็นตาของผู้เสียหายให้ทราบว่าถูกจำเลยกระทำชำเรา นายบุญจันทร์จึงไปแจ้งแก่นายวานิชกำนันให้ทราบเรื่อง นายบุญจันทร์ได้เรียกจำเลยมาสอบถามและในที่สุดจำเลยกับนายบุญจันทร์ทำบันทึกกันไว้ว่า จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้เป็นเงิน 7,000 บาท ต่อมานางอรทัยมารดาของผู้เสียหายทราบเรื่อง จึงได้นำผู้เสียหายไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาเป็นคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้นางสาวบังอร นายบุญจันทร์ นายวานิช นางสาวรัศมีนายปรีชา และนางอรทัย พยานโจทก์ต่างล้วนเป็นพยานบอกเล่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุขณะที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย เพียงแต่ได้ทราบจากคำบอกเล่าของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายถูกจำเลยกระทำชำเราดังเช่นที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่คำเบิกความของพยานบอกเล่าของโจทก์ดังกล่าวนี้ก็มิใช่จะไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเสียเลยแต่ประการใด เพราะลักษณะการกระทำผิดเช่นนี้ก็เป็นการยากที่จะได้มีผู้อยู่รู้เห็นในขณะที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายด้วย เป็นเรื่องที่จำเลยและผู้เสียหายเท่านั้นที่จะรู้เห็นด้วยกัน พยานบอกเล่าของโจทก์ที่จำเลยฎีกาอ้างถึงนั้น ย่อมเป็นพยานแวดล้อมที่จะสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายให้รับฟังได้หรือไม่ว่า ผู้เสียหายถูกจำเลยกระทำชำเราจริง โดยเฉพาะนางสาวบังอรที่เห็นจำเลยฉุดผู้เสียหายเข้าไปในที่เกิดเหตุและได้ไปบอกนางถนอมยายของผู้เสียหายให้ทราบเรื่องแล้วพากันกลับไปยังที่เกิดเหตุ เมื่อผู้เสียหายออกจากที่เกิดเหตุมาแล้วนางสาวบังอรเบิกความว่า ผู้เสียหายบอกว่าผู้เสียหายถูกจำเลยกระทำชำเรา ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้เสียหายบอกให้นางสาวบังอรทราบเรื่องทันที หลังจากนั้นทั้งนางสาวบังอรและผู้เสียหายเบิกความต้องกันว่าไปบอกให้นายบุญจันทร์ตาของผู้เสียหายทราบ นายบุญจันทร์เบิกความรับว่าเมื่อทราบเรื่องได้ตามหาจำเลยไม่พบ จึงไปแจ้งแก่นายวานิชกำนันว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ซึ่งนายวานิชก็เบิกความว่าขณะอยู่บ้านเวลาประมาณ 21 นาฬิกา นายบุญจันทร์มาแจ้งว่าผู้เสียหายถูกจำเลยกระทำชำเรา เมื่อพิจารณาคำเบิกความของผู้เสียหายที่ว่าในคืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 19.55 นาฬิกา ผู้เสียหายและนางสาวบังอรออกจากบ้านไปดูภาพยนตร์ที่กลางหมู่บ้าน ต่อมาจึงได้พบกับจำเลยและเกิดเหตุขึ้นแล้ว ยิ่งเห็นได้ว่านายวานิชได้รับแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นจากนายบุญจันทร์หลังเกิดเหตุไม่นานแม้เมื่อนายวานิชรับแจ้งเหตุจากนายบุญจันทร์ดังกล่าวนั้นผู้เสียหายมิได้มาอยู่ด้วยให้นายวานิชสอบถามก็ตาม แต่นายวานิชได้เบิกความอีกว่าในวันรุ่งขึ้นได้เรียกจำเลย ผู้เสียหาย นายบุญจันทร์และนางถนอมไปพบเพื่อสอบถามจำเลยรับว่าได้กระทำชำเราผู้เสียหายจริง ที่ทำไปเนื่องจากจำเลยมึนเมา ซึ่งบันทึกที่จำเลยทำขึ้นเพื่อรับผิดยอมชำระค่าเสียหายให้นายบุญจันทร์ จำเลยก็มิได้เบิกความว่าถูกบังคับให้ทำขึ้นแต่อย่างใด คงเบิกความถึงเหตุที่ทำเพียงว่าต้องการทำให้เสร็จเรื่องตามความประสงค์ของฝ่ายผู้เสียหาย ประกอบกับจำเลยต้องรีบเดินทางไปกรุงเทพมหานครเท่านั้น ซึ่งหากจำเลยมิได้กระทำชำเราผู้เสียหายแล้วก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องยอมทำบันทึกและชำระเงินให้แก่นายบุญจันทร์ตาของผู้เสียหาย ทั้งนายบุญจันทร์ก็เป็นญาติกับจำเลย โดยเฉพาะนายวานิชเป็นกำนันไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายใดยิ่งไม่มีเหตุที่จะให้ระแวงสงสัยว่าจะร่วมมือปรักปรำจำเลย การที่นายวานิชรับแจ้งเรื่องจากนางถนอมก็ด้วยฐานะที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่เท่านั้น นอกจากนี้ภายหลังเมื่อพนักงานสอบสวนรับแจ้งความแล้วได้ส่งตัวผู้เสียหายไปตรวจร่างกาย นายแพทย์เมืองทอง เสถียรศักดิ์พงษ์ผู้ตรวจร่างกายผู้เสียหายก็เบิกความว่า ตรวจร่างกายภายนอกพบมีรอยฟกช้ำที่บริเวณขาหนีบหลายแห่ง ตรวจภายในช่องคลอดพบบาดแผลฉีกขาดบริเวณปากช่องคลอดจึงทำให้เห็นได้ว่าผู้เสียหายได้ถูกร่วมประเวณีมาแล้วจึงเกิดมีรอยบาดแผลฉีกขาดบริเวณปากช่องคลอด การที่จำเลยฎีกาว่า จากการตรวจร่างกายของผู้เสียหายไม่พบเชื้ออสุจิในช่องคลอดของผู้เสียหายนั้น ก็มิได้หมายความว่าผู้เสียหายจะมิได้ถูกร่วมประเวณีแต่อย่างใด เพราะตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ผู้ตรวจร่างกายผู้เสียหาย ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนส่งตัวผู้เสียหายไปตรวจร่างกายหลังเกิดเหตุถึง 10 วัน ประกอบกับในชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำชำเราผู้เสียหายด้วยเช่นนี้ พฤติการณ์จึงมีเหตุเชื่อได้ว่าที่ผู้เสียหายเบิกความว่าจำเลยกระทำชำเราในคืนเกิดเหตุเป็นการเบิกความไปตามความจริง มิได้มีเหตุจูงใจที่จะกล่าวหาปรักปรำจำเลยที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้ลงโทษจำเลยต้องกันมานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยฉุดผู้เสียหายเข้าไปในป่าที่เกิดเหตุแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายนั้น เป็นความผิดฐานพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก แล้ว มิใช่ไม่เป็นความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยนั้น เห็นว่า การที่จำเลยมีเจตนาจะกระทำชำเราผู้เสียหาย จึงตัดสินใจเข้าฉุดตัวผู้เสียหายจากทางเดินเข้าไปในป่าข้างทางบริเวณที่เกิดเหตุแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายทันทีนั้น แม้การที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจะเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายด้วย และการกระทำของจำเลยดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ต่อเนื่องกันก็ตาม แต่การที่จำเลยฉุดตัวผู้เสียหายจากทางเดินเข้าไปในป่าข้างทางที่เกิดเหตุ เป็นการแสดงเจตนาส่วนหนึ่งของจำเลย โดยมีเหตุจูงใจที่จะนำตัวผู้เสียหายไปกระทำชำเรา อันเป็นการกระทำส่วนหนึ่งที่สำเร็จไปแล้ว ต่างหากจากการที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ดังนั้น ถึงแม้ป่าบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งจำเลยฉุดผู้เสียหายเข้าไปกระทำชำเราจะอยู่ไม่ไกลจากทางเดินที่ผู้เสียหายเดินอยู่ก่อนมากนักก็ถือได้ว่าจำเลยได้พาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นบริเวณเดียวกันไม่ถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดฐานพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารอีกกรรมหนึ่งนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก อีกกรรมหนึ่ง จำคุก 3 ปี ลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี รวมเป็นจำคุก 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค

Share