แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า การเคหะแห่งชาติเคยมีหนังสือบอกเลิกการเช่าห้องพิพาทแก่จำเลยแล้ว จำเลยก็ยอมรับ แต่ปฏิเสธว่าหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าไม่มีผลบังคับ เพราะได้มีบัญชาของนายกรัฐมนตรีขณะนั้นให้ระงับโครงการรื้อถอนและให้ผู้เช่ารวมทั้งจำเลยเช่าอยู่ต่อไป แต่จำเลยไม่มีพยานมาสืบให้เห็นเป็นดังที่จำเลยอ้างเพียงกล่าวอ้างลอย ๆ ถือว่าการบอกเลิกการเช่ามีผลสมบูรณ์ จำเลยอยู่ในห้องพิพาทโดยละเมิดการที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยเนื่องจากการบอกเลิกการเช่าห้องพิพาทไม่มีผลตามกฎหมายนั้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงว่า หนังสือบอกเลิกสัญญาไม่มีผลบังคับเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมีสิทธิการเช่าในห้องพิพาทดีกว่าโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 543(3) อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยในข้อที่ว่า โจทก์จะเรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ไม่ต้องด้วยเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)(ก) เมื่อศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า กรณีที่โจทก์เรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมต้องด้วยเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)(ข) แล้วดังนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงไม่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ตามสัญญาเช่าระบุว่า ผู้เช่าสัญญาจะเป็นผู้ดำเนินการให้ผู้ครอบครองผู้บุกรุก หรือบุคคลอื่นออกจากสถานที่เช่าและสิ่งปลูกสร้างในสถานที่เช่าจนสามารถครอบครองสถานที่เช่าได้ทั้งหมด โดยผู้ให้เช่าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่ผู้เช่าจ่ายจริงภายในวงเงินไม่เกินสิบล้านบาทนั้น สัญญาได้ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้เช่าคือโจทก์เป็นผู้ดำเนินการโดยผู้ให้เช่าคือโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายจึงเป็นเรื่องการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของโจทก์ มิใช่เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมด้วยนั้น เมื่อปรากฏตามคำร้องเข้าเป็นโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมเพียงแต่ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องพิพาทและห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องอีกเท่านั้นดังนั้น คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำขอ อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ศาลฎีกาสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องเป็นจำเลยไม่ต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมอาคารสงเคราะห์ราชวิถี-รางน้ำ เป็นกรรมสิทธิ์ของกรมประชาสงเคราะห์ ปลูกสร้างอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1235ถนนราชวิถี แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานครซึ่งเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และกรมประชาสงเคราะห์ได้ให้จำเลยเช่าห้องเลขที่ 7 ของอาคารดังกล่าวอยู่อาศัยในอัตราค่าเช่าเดือนละ 145 บาท โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาเช่า ต่อมามีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 316 ลงวันที่13 ธันวาคม 2515 ข้อ 54 ให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้และความรับผิดของกรมประชาสงเคราะห์เฉพาะที่เกี่ยวกับกิจการอาคารสงเคราะห์ไปให้การเคหะแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่11 กุมภาพันธ์ 2516 ซึ่งรวมทั้งห้องที่จำเลยเช่าอยู่ด้วยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2522 การเคหะแห่งชาติได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยแต่จำเลยกับบริวารไม่ยอมย้ายออก คงอาศัยอยู่ในห้องพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตลอดมา ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2533การเคหะแห่งชาติได้ขายอาคารสงเคราะห์ราชวิถี-รางน้ำ รวมทั้งห้องพิพาทให้แก่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และในวันเดียวกันสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ให้โจทก์เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1235 พร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดในที่ดินดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาการเช่า 30 ปี นับตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม 2533 เป็นต้นไปเพื่อประโยชน์ทำเป็นสวนสาธารณะโดยสัญญาเช่าได้กำหนดให้โจทก์ผู้เช่าเป็นผู้ดำเนินการให้ผู้ครอบครอง ผู้บุกรุก หรือบุคคลอื่นใดออกไปจากสถานที่เช่า และเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2535 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยนายสมควร รวิรัฐ ผู้อำนวยการสำนักงานสวัสดิการสังคมกรุงเทพมหานคร ผู้รับมอบอำนาจได้มีหนังสือถึงจำเลยบอกเลิกสัญญาเช่า และให้จำเลยพร้อมทั้งบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากห้องที่เช่าภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าว 2 ครั้ง แต่ไม่ยอมจนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากห้องพิพาท การกระทำของจำเลย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถนำสถานที่ดังกล่าวไปทำประโยชน์เป็นสวนสาธารณะได้ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์ออกไปจากห้องพิพาทกับให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 2,175 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือน เดือนละ 145 บาทนับวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากห้องพิพาท
โจทก์ร้องขอให้ศาลหมายเรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การว่า แม้โจทก์จะได้เช่าอาคารทั้งหมดรวมทั้งห้องพิพาทจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นกรณีที่มีผู้เช่าหลายรายอาศัยสิทธิต่างกัน จำเลยเป็นผู้เช่าก่อนและได้เข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าก่อนโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิดีกว่าโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย สัญญาซื้อขายระหว่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับการเคหะแห่งชาติ และสัญญาเช่าระหว่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับโจทก์มีข้อกำหนดในสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกเช่นจำเลยจำเลยได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญาโดยแจ้งไปยังโจทก์และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้มีการชดเชยในการขนย้ายโดยคำนึงถึงความเป็นธรรม แต่โจทก์และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยังไม่ได้ปฏิบัติตามข้อสัญญา โจทก์จึงผิดสัญญาและไม่มีอำนาจฟ้องทั้งหนังสือมอบอำนาจให้บอกเลิกสัญญาเช่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 และหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 เป็นเอกสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่ายังไม่มีการบอกเลิกสัญญาเช่า สัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยังมีผลบังคับอยู่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยื่นคำร้องว่า ตามที่ศาลหมายเรียกให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนั้นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมและขอเพิ่มเติมฟ้องว่าโจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลโดยมีนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นผู้อำนวยการ มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1235 ถนนราชวิถี แขวงพญาไทเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินทั้งหมดรวมอาคารสงเคราะห์ราชวิถี-รางน้ำ เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2533 โจทก์ร่วมให้โจทก์เช่าที่ดินดังกล่าวเพื่อประโยชน์ทำเป็นสวนสาธารณะ มีกำหนดระยะเวลาเช่า 30 ปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2533 เป็นต้นไปโจทก์ร่วมมอบอำนาจให้นายสมควร รวิรัฐผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร บอกเลิกสัญญาเช่าอาคารที่ตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวแก่ผู้เช่าทุกรายรวมทั้งจำเลยแล้ว แต่จำเลยและบริวารไม่ยอมออกไปจากห้องพิพาทเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมไม่สามารถส่งมอบที่ดินที่เช่าให้แก่โจทก์ได้และทำให้โจทก์และโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องพิพาทและห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องอีก
จำเลยไม่ให้การแก้ฟ้องของโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องพิพาทและส่งมอบห้องดังกล่าวให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมในสภาพเรียบร้อย ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับห้องพิพาทอีกต่อไป กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์และโจทก์ร่วมเป็นเงินจำนวน 2,175 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 145 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องพิพาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า อุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่าโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยเนื่องจากการบอกเลิกการเช่าห้องพิพาทของการเคหะแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2522 ตามเอกสารหมาย จ.4 ไม่มีผลตามกฎหมาย เป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือปัญหาข้อเท็จจริงเห็นว่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า การเคหะแห่งชาติเคยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2522 บอกเลิกการเช่าห้องพิพาทแก่จำเลยแล้ว จำเลยก็ยอมรับ แต่ปฏิเสธว่า หนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าไม่มีผลบังคับ เพราะได้มีบัญชาของนายกรัฐมนตรีขณะนั้นให้ระงับโครงการรื้อถอนและให้ผู้เช่ารวมทั้งจำเลยเช่าอยู่ต่อไป แต่จำเลยไม่มีพยานมาสืบให้เห็นเป็นดังที่จำเลยอ้างเพียงกล่าวอ้างลอย ๆถือว่าการบอกเลิกการเช่ามีผลสมบูรณ์ จำเลยอยู่ในห้องพิพาทโดยละเมิด อุทธรณ์ในข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงว่า หนังสือบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 ไม่มีผลบังคับเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมีสิทธิการเช่าในห้องพิพาทดีกว่าโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 543(3) อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้นั้นชอบแล้วสำหรับฎีกาของจำเลยในข้อต่อมาว่า โจทก์จะเรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) นั้น ไม่ต้องด้วยเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(3)(ก) เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า กรณีที่โจทก์เรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมต้องด้วยเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)(ข)ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงไม่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 3 เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 3 ระบุว่าผู้เช่าสัญญาจะเป็นผู้ดำเนินการให้ผู้ครอบครองผู้บุกรุก หรือบุคคลอื่นออกจากสถานที่เช่าและสิ่งปลูกสร้างในสถานที่เช่าจนสามารถครอบครองสถานที่เช่าได้ทั้งหมด โดยผู้ให้เช่าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่ผู้เช่าจ่ายจริงภายในวงเงินไม่เกินสิบล้านบาทนั้น สัญญาได้ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้เช่าคือโจทก์เป็นผู้ดำเนินการโดยผู้ให้เช่าคือโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย จึงเป็นเรื่องการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของโจทก์ มิใช่เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมด้วยนั้น ปรากฏตามคำร้องเข้าเป็นโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องพิพาทและห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องอีกกับขอให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ร่วมดังนั้น คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำขอ อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 จึงสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์