แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อนายทะเบียนเห็นว่าผู้ร้องขอจดทะเบียนสมรสมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 แล้วแต่กลับยับยั้งการจดทะเบียนสมรสไว้ โดยหารือไปยังจังหวัดก่อนนั้นย่อมถือได้ว่าเป็นการไม่ยอมรับจดทะเบียนสมรส อันผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำร้องต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 แล้ว ในชั้นยื่นคำคัดค้านผู้คัดค้านอ้างเหตุที่ทำให้คำร้องเคลือบคลุมอย่างหนึ่งแต่เหตุที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างในฎีกาว่าคำร้องเคลือบคลุมเป็นอีกอย่างหนึ่งต่างกันดังนั้นฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481มาตรา 19 ซึ่งบัญญัติว่า ‘เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย’นั้นหาใช่บทกฎหมายที่ผู้คัดค้านจะนำมาใช้ในชั้นพิจารณาคำร้องขอจดทะเบียนสมรสไม่
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องและนางเตี๋ยนได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสกันต่อนายทะเบียนอำเภอท่าอุเทน แต่นายทะเบียนดังกล่าวไม่รับจดทะเบียนให้ โดยอ้างว่านางเตี๋ยนสัญชาติญวน เข้าเมืองมาเป็นการชั่วคราว กระทรวงมหาดไทยไม่มีนโยบายที่จะจดทะเบียนให้ ทั้ง ๆ ที่ผู้ร้องและนางเตี๋ยนมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้นายทะเบียนอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม จดทะเบียนสมรสให้แก่ผู้ร้องและนางเตี๋ยน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่ายังไม่ได้ปฏิเสธการรับจดทะเบียนสมรสให้แก่ผู้ร้องจึงยังไม่มีการโต้แย้งสิทธิ ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องเป็นคดีนี้คำร้องเคลือบคลุม ผู้ร้องไม่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขแห่งการสมรสนางเตี๋ยนเป็นบุคคลเชื่อชาติญวน สัญชาติญวน ซึ่งผู้ร้องจะต้องแสดงให้นายทะเบียนทราบว่ามีความสามารถและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขการสมรสตามกฎหมายสัญชาติ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสให้แก่ผู้ร้องและนางเตี๋ยน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าได้ความตามหนังสือผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย เอกสารหมาย ร.1 ว่า กรณีคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ร้องขอจดทะเบียนสมรสกับบุคคลสัญชาติไทย หรือกับบุคคลต่างด้าวด้วยกัน กระทรวงมหาดไทย เคยสั่งการให้นายทะเบียนถือปฏิบัติ โดยให้นายทะเบียนตรวจสอบ คำร้องบัตรประจำตัว คุณสมบัติและสอบสวนปากคำของผู้ร้องก่อน ในกรณีมีเหตุควรสงสัยว่า ผู้ร้องขอจดทะเบียนสมรสจะขาดคุณสมบัติตามเงื่อนไขแห่งการสมรสก็ให้นายทะเบียนยับยั้งการจดทะเบียนสมรสไว้ก่อน คดีนี้อำเภอท่าอุเทนได้ดำเนินการตามที่กระทรวงมหาดไทยสั่งการแล้วเห็นว่าผู้ร้องจดทะเบียนสมรสมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขการสมรส แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ. 2519 จึงหารือจังหวัดนครพนมว่า จะทำการจดทะเบียนสมรสให้แก่ผู้ร้องได้หรือไม่ จังหวัดจึงได้ให้อำเภอท่าอุเทนรอการจดทะเบียนสมรสไว้ก่อน แล้วหารือต่อไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อผู้คัดค้านเห็นว่าผู้ร้องขอจดทะเบียนสมรสมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขการสมรสแล้ว แต่กลับยับยั้งการจดทะเบียนสมรสไว้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการไม่ยอมรับจดทะเบียนสมรส อันผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำร้องต่อศาล ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 แล้วผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง
ในชั้นยื่นคำคัดค้านผู้คัดค้านอ้างเหตุที่ทำให้คำร้องเคลือบคลุมว่า เพราะมิได้ระบุให้ชัดแจ้งว่า ผู้ร้องมีสิทธิอย่างไรในการที่จะขอจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย มีกฎหมายใดบ้างที่รับรองสิทธิของผู้ร้อง ทั้งมิได้กล่าวว่านายทะเบียนกระทำการโต้แย้งสิทธิหรือปฏิบัติหน้าที่มิชอบละเมิดสิทธิผู้ร้องให้เสียหายอย่างไร เห็นได้ว่าเป็นคนละเหตุกับที่ผู้คัดค้านนยกขึ้นอ้างในฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 19 ซึ่งบัญญัติว่า “เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย” นั้น หาใช่บทกฎหมายที่ผู้คัดค้านจะนำมาใช้ในชั้นพิจารณาคำร้องขอจดทะเบียนสมรสไม่
พิพากษายืน