คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 174/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างขับรถของบริษัท ข.บริษัท ข.เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารประจำทางได้นำรถยนต์มาเดินร่วมในเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ 1โดยพ่นสีเดียวกับสีรถยนต์โดยสารประจำทางของจำเลยที่ 1 และมีตราของจำเลยที่1 ที่ข้างรถทั้งสองข้างพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารได้รับ เงินเดือนจากจำเลยที่ 1 ถือว่าบริษัท ข.ร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่1 การที่รถยนต์โดยสารประจำทางมาเดินรับส่งคนโดยสารในลักษณะเช่นนี้ ถือว่าเป็นกิจการของ จำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นลูกจ้างของจำเลยที่1ด้วย การที่ห้ามล้อเท้าของรถยนต์เกิดใช้การไม่ได้ในขณะขับเป็นเหตุให้รถยนต์ชนรถยนต์สามล้อ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเพราะยังอยู่ในวิสัยที่ผู้ขับขี่อาจป้องกันได้ถ้าหากใช้ความระมัดระวังตามสมควรโดยตรวจดูสภาพของรถให้เรียบร้อยก่อนนำออกไปรับส่งผู้โดยสาร การที่รัฐวิสาหกิจออกค่ารักษาพยาบาลให้แก่พนักงานของตนไปแล้วหาทำให้ผู้ทำละเมิดและนายจ้างพ้นความรับผิดในการชดใช้ค่ารักษาพยาบาลนั้นต่อผู้เสียหายไม่ ผู้ตายอายุ 50 ปี ไม่ปรากฏว่ามีโรคร้ายประจำตัว และขณะนั้นโจทก์ที่ 1 อายุ 46 ปีปัจจุบันการแพทย์และสาธารณสุขเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนมากช่วงชีวิตของบุคคลทั่วไปยาวขึ้นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 1เป็นเวลา 10 ปีนั้น ควรแก่พฤติการณ์แล้ว การที่ศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะเป็นกำหนดเวลาแน่นอนและคำนวณเป็นเงินก้อนจำนวนหนึ่งออกมาโดยไม่ต้องรอฟังว่าผู้ขาดไร้อุปการะจะมีชีวิตต่อไปอีกเป็นเวลานานเท่าใดนั้นเป็นการตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องและใช้ดุลพินิจไปตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด หนี้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะที่ศาลกำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์มิใช่หนี้ในอนาคต แต่เป็นหนี้เงินที่จำเลยจะต้องชำระทันทีจำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด ผู้เสียหายย่อมฟ้องนายจ้างของผู้ทำละเมิดให้ร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ผู้ทำละเมิดกระทำไปในทางการที่จ้างได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวและแจ้งถึงค่าเสียหายก่อนเพราะถือว่านายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ผิดนัดมาตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิดแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายทองสา วันทองสุข กับโจทก์ที่ 1 เป็นสามีภริยากันมีบุตรด้วยกัน3 คน คือ โจทก์ที่ 2 อายุ 15 ปี โจทก์ที่ 3 อายุ 13 ปี และโจทก์ที่ 4 อายุ 7 ปี จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารประจำทางคันหมายเลขทะเบียน 1 จ – 7872และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2523 จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันดังกล่าวในทางการจ้างของจำเลยที่ 1 โดยประมาทเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์สามล้อรับจ้างคันหมายเลขทะเบียน 1 ส – 4465 ที่นายทองสาขับ นายทองสาได้รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 9 วันจึงตาย เสียค่ารักษาพยาบาล 16,000 บาท ค่าพาหนะไปกลับของโจทก์และญาติ 900 บาท ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาศพและสวดอภิธรรม 5 วัน เป็นเงิน 12,500 บาท จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลงศพในอนาคต 31,800 บาทนายทองสาได้รับเงินเดือน 3,840 บาท เงินช่วยเหลือบุตรคนละ 50 บาท เงินช่วยค่าครองชีพเดือนละ 400 บา และรายได้จากการขับรถยนต์สามล้อรับจ้างอีกวันละ 150 บาท โจทก์ที่ 1 ขอค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะ 10 ปี เป็นเงิน 420,000 บาท โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ขอจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะรวมทั้งค่าช่วยเหลือบุตรคนละ 50 บาทต่อเดือน จนกว่าจะมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์เป็นเงิน 64,800 บาท 78,600 บาท และ 123,600 บาท ตามลำดับ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนรวม 748,200 บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่ามิใช่เจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารตามฟ้องและมิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มิได้ขับรถโดยประมาท แต่เป็นเหตุสุดวิสัยเพราะห้ามล้อรถใช้การไม่ได้โดยกะทันหัน นายทองสามิได้มีรายได้มากมายดังที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ที่ 1 ขาดไร้อุปการะไม่เกินเดือนละ 2,500 บาทโจทก์ที่เหลือไม่เกินเดือนละ 600 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยเพราะการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้ออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้แล้วค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาศพและสวดพระอภิธรรมไม่ควรเกิน 5,000 บาท ค่าปลงศพในอนาคตไม่เกิน 15,000 บาทโจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนจำเลยจึงยังไม่ผิดนัดต่อโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน 516,400 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของบริษัทขวานเพชรบริการ จำกัดจำเลยที่ 1 มิได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ก็มิได้รับสินจ้างจากจำเลยที่ 1บริษัทขวานเพชรบริการ จำกัด ผู้เป็นเจ้าของ ได้นำรถยนต์โดยสารประจำทางตามฟ้องมาเดินร่วมในเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงให้เข้ามาเดินรถยนต์โดยสารประจำทางตามฟ้องพ่นสีเดียวกับสีรถยนต์โดยสารประจำทางของจำเลยที่ 1 และมีตราของจำเลยที่ 1 ที่ข้างรถทั้งสองข้าง พนักงานเก็บเงินค่าโดยสารประจำรถยนต์โดยสารประจำทางตามฟ้องได้รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 1ถือว่าบริษัทขวานเพชรบริการ จำกัด ร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่ 1 การที่รถยนต์โดยสารประจำทางตามฟ้องมาเดินรับส่งคนโดยสารในลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 คนขับรถยนต์โดยสารประจำทางตามฟ้องซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทขวานเพชรบริการ จำกัด ย่อมเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย

การที่ห้ามล้อเท้าของรถยนต์โดยสารประจำทางตามฟ้องใช้การไม่ได้ในขณะเกิดเหตุนั้น ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เพราะยังอยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 2 ผู้ขับอาจจะป้องกันได้ถ้าหากใช้ความระมัดระวังตามสมควร โดยตรวจดูสภาพของรถให้เรียบร้อยก่อนนำรถออกไปรับส่งผู้โดยสาร ดังนั้นการที่ห้ามล้อเกิดใช้การไม่ได้ในขณะขับจึงเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 เมื่อรถยนต์โดยสารประจำทางตามฟ้องที่จำเลยที่ 2 ขับชนรถยนต์สามล้อรับจ้างที่นายทองสาขับ เพราะเหตุห้ามล้อรถยนต์โดยสารประจำทางตามฟ้องใช้การไม่ได้จนเป็นเหตุให้นายทองสาถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการละเมิด

การที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยออกค่ารักษาพยาบาลนายทองสาเป็นเรื่องที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยสงเคราะห์พนักงานของตน ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ทำละเมิดพ้นความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ตนได้กระทำเมื่อจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพื่อค่ารักษาพยาบาลนายทองสาแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดด้วย

ขณะถึงแก่ความตายนายทองสาอายุ 50 ปี ไม่ปรากฏว่ามีโรคร้ายแรงประจำตัวและขณะนั้นโจทก์ที่ 1 อายุ 46 ปี ปัจจุบันการแพทย์และสาธารณสุขเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ช่วงชีวิตของบุคคลทั่วไปยาวขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเวลา 10 ปีนั้น ควรแก่พฤติการณ์แล้ว

การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหททดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะเป็นกำหนดเวลาที่แน่นอนและคำนวณเป็นเงินก้อนจำนวนหนึ่งออกมา โดยไม่ต้องรอฟังว่าผู้ขาดไร้อุปการะจะมีชีวิตต่อไปอีกเป็นเวลานานเท่าใดนั้นเป็นการตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องและใช้ดุลพินิจไปตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว

ศาลได้กำหนดเงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปกรณ์ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระแก่โจทก์ไว้เป็นจำนวนแน่นอน ส่วนที่วินิจฉัยให้โจทก์คนใดได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะเดือนละเท่าใดเป็นเวลานานเท่าใดนั้นก็เพื่อหาจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะที่โจทก์แต่ละคนจะได้รับตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด เมื่อหาจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้และศาลกำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์ตามจำนวนนั้นแล้วหนี้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะที่ศาลกำหนดนี้จึงมิใช่หนี้ในอนาคตแต่เป็นหนี้เงินที่จำเลยจะต้องชำระทันที จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด

จำเลยที่ 2 ซึ่งถือได้ว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2ได้กระทำ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะลูกหนี้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 หนี้ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นหนี้หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด ดังนั้นโจทก์ทั้งสี่จึงไม่ต้องบอกกล่าวและแจ้งถึงค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1ชำระหนี้เสียก่อนฟ้อง

พิพากษายืน

Share