คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 241 วรรคแรก จะบัญญัติให้ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 130 กำหนดให้เริ่มการสอบสวนโดยไม่ชักช้าจะทำการในที่ใด เวลาใด แล้วแต่จะเห็นสมควร โดยผู้ต้องหาไม่จำต้องอยู่ด้วยอันเป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาให้ได้รับผลกระทบจากการเป็นผู้ต้องหาน้อยที่สุด แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าถ้าพนักงานสอบสวนมิได้ทำการสอบสวนโดยไม่ชักช้าแล้ว การสอบสวนนั้นจะเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ ดังนั้น แม้จะปรากฏว่าพนักงานสอบสวนเพิ่งเริ่มสอบสวนเกี่ยวกับความผิดของจำเลยในข้อหามีเฮโรอีนไว้ในครอบครองในระหว่างที่จำเลยต้องโทษอยู่ในเรือนจำกลางคลองเปรมหลังจากที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาถึง 1 ปี 3 เดือน ก็ตาม แต่เมื่อการสอบสวนคดีนี้กระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 2 ถุงน้ำหนักรวม 8.66 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมเฮโรอีนดังกล่าวเป็นของกลาง ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 6 ปี 6 เดือน ฐานมีเฮโรอีนและกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5694/2539 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ระหว่างจำเลยรับโทษจำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีก ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 97, 102 ริบของกลางเพิ่มโทษและนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าว

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67, 102 จำคุก 8 ปี เพิ่มโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 กึ่งหนึ่ง จำคุก 12 ปี นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5694/2539 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้ริบของกลาง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดฐานมีเฮโรอีนและกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ถูกลงโทษจำคุก6 ปี 6 เดือน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5694/2539 ของศาลอาญากรุงเทพใต้วันที่ 18 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุคดีนี้จำเลยอยู่ระหว่างต้องโทษในคดีดังกล่าวโดยถูกขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ได้ตรวจค้นจำเลยแล้ว แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า มีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครอง และทำบันทึกการจับกุมตามเอกสารหมาย จ.2 วันที่ 21 ตุลาคม 2539 ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรมมีหนังสือถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่นแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย วันที่ 11มิถุนายน 2541 ร้อยตำรวจเอกสถิตย์ สังข์ประไพ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่นไปสอบสวนจำเลยที่เรือนจำกลางคลองเปรม ทำบันทึกการแจ้งสิทธิต่อผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา บัญชีของกลางคดีอาญา และส่งของกลางไปให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจพิสูจน์ ตามเอกสารหมาย จ.10 จ.11 จ.8 และ จ.8/1 ตามลำดับวันที่ 22 มิถุนายน 2542 ร้อยตำรวจเอกสถิตย์มอบสำนวนการสอบสวนให้พันตำรวจโทสถาพร บุนนาค สอบสวนต่อ และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2542มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า การสอบสวนคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า พนักงานสอบสวนได้มีหนังสืออายัดตัวจำเลยเมื่อปี 2539 ถือว่าเริ่มมีการสอบสวนตั้งแต่นั้นมา การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายเห็นว่าโจทก์มีร้อยตำรวจเอกสถิตย์เบิกความในเรื่องนี้เพียงปากเดียวว่าเรือนจำกลางคลองเปรมส่งเรื่องให้พยานประมาณปี 2539 พยานจึงส่งเรื่องให้อายัดตัวจำเลยไว้ที่เรือนจำดังกล่าว ร้อยตำรวจเอกสถิตย์เบิกความลอย ๆ เพียงประโยคเดียว โดยไม่ได้ระบุให้แน่นอนว่าขออายัดตัวจำเลยเมื่อไร โจทก์ไม่มีพยานเอกสารหรือพยานบุคคลปากอื่นสนับสนุนคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสถิตย์การกระทำต่าง ๆ ในการสอบสวนปรากฏว่าเพิ่งกระทำเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2541 จึงไม่น่าเชื่อว่าพนักงานสอบสวนได้มีหนังสืออายัดตัวจำเลยตั้งแต่ปี 2539 อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 241 วรรคแรก บัญญัติว่า ในคดีอาญา ผู้ต้องหาย่อมมีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็วต่อเนื่อง และเป็นธรรม และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 130 บัญญัติว่าให้เริ่มการสอบสวนโดยมิชักช้า จะทำการในที่ใดเวลาใดแล้วแต่จะเห็นสมควรโดยผู้ต้องหาไม่จำต้องอยู่ด้วย อันเป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาให้ได้รับผลกระทบจากการเป็นผู้ต้องหาให้น้อยที่สุด แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าถ้าพนักงานสอบสวนไม่ได้ทำการสอบสวนโดยมิชักช้าแล้ว การสอบสวนนั้นจะเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ ดังนั้น เมื่อการสอบสวนคดีนี้กระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนจึงเป็นการสอบสวนที่ชอบที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพนักงานสอบสวนเพิ่งเริ่มสอบสวนหลังจากได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาเกือบ 2 ปี เป็นการที่ไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 130 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 241 วรรคแรก จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 และ 247 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนคืนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อให้พิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share