คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ออกเช็คระบุให้จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 2 หรือผู้ถือ การโอนเช็คไปย่อมสมบูรณ์เพียงด้วยส่งมอบให้กันเมื่อจำเลยที่ 2 ส่งมอบเช็คพิพาทให้แก่โจทก์โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรง
จำเลยที่ 1 ออกเช็คสั่งจ่ายล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ยักยอกเงินของบริษัทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการ จำเลยที่ 1 จึงแจ้งความดำเนินคดีอาญาและแจ้งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คจำเลยที่ 2 เอาเช็คพิพาทไปขึ้นเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่าย จำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงได้เอาเช็คนั้นมาฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดใช้เงินตามเช็ค เมื่อการโอนเช็คพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และโจทก์ได้มีขึ้นด้วยการคบคิดกันเพื่อฉ้อฉลจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายย่อมต่อสู้โจทก์ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันระหว่างตนกับจำเลยที่ 2 ผู้ทรงคนก่อนนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 และ989 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ได้สลักหลังเช็คธนาคารไทยพัฒนา จำกัดสาขาปากน้ำโพ 3 ฉบับ ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปขอรับเงินต่อธนาคารปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้สั่งระงับการจ่ายเงิน จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้เงินตามเช็ค

จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 สมคบกัน โดยจำเลยที่ 2 แกล้งเป็นลูกหนี้โจทก์ โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ทรงเช็คหรือรับโอนเช็คดังกล่าว จำเลยที่ 2 เซ็นชื่อหลังเช็คในฐานะผู้ขอเบิกเงินจากธนาคาร ไม่ใช่ในฐานะผู้สลักหลังโอนเช็คให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คให้แก่จำเลยที่ 2 หรือผู้ถือจำเลยที่ 2 ได้สลักหลังชำระหนี้ให้โจทก์ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 นำสืบไม่ปรากฏว่าการโอนเช็คระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้มีขึ้นด้วยสมคบกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คทั้ง 3 ฉบับนี้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 เป็นผู้นำเช็คทั้ง 3 ฉบับไปขึ้นเงินต่อธนาคาร โจทก์หาได้นำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินไม่ เมื่อโจทก์มิได้นำเช็คไปขึ้นเงินจากธนาคารก็เท่ากับโจทก์ยังไม่ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 914 คือ โจทก์มิได้ทวงถามหนี้รายนี้จากธนาคาร ธนาคารก็ดี จำเลยที่ 1 ก็ดี ยังมิได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ หนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดด้วย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ โจทก์ไม่เคยไปเบิกเงินจากธนาคาร โจทก์จะมากล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ทำผิดย่อมฟังไม่ขึ้น และหนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ผู้โอนเช็คให้โจทก์ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามฟ้อง

ศาลฎีกาเห็นว่า เช็ครายพิพาททั้ง 3 ฉบับ ระบุให้จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 2 หรือผู้ถือการโอนไปย่อมสมบูรณ์เพียงด้วยส่งมอบให้กันเมื่อจำเลยที่ 2 ส่งมอบเช็คพิพาทให้โจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918 และ 989 คดีนี้ คู่ความรับกันแล้วว่าเช็ครายพิพาทถึงกำหนด และธนาคารไม่ยอมจ่ายเงินตามเช็คผู้ทรงย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สั่งจ่ายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 959 จำเลยที่ 1ผู้สั่งจ่ายเช็คหาอาจจะต่อสู้โจทก์ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับจำเลยที่ 2 ผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ยักยอกเงินของบริษัทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการจำเลยที่ 1 จึงแจ้งความให้ดำเนินคดีอาญา และแจ้งธนาคารให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 2 เอาเช็คพิพาทไปขึ้นเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายจำเลยที่ 2 จึงให้เช็คแก่โจทก์ โจทก์ได้เอาเช็คนั้นมาฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อการโอนเช็คพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และโจทก์ได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันเพื่อฉ้อฉลจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายย่อมต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยเกี่ยวพันระหว่างตนกับจำเลยที่ 2 ผู้ทรงคนก่อนนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 และ 989 วรรค 1 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share