คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 43/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความอ้างว่าผู้ร้องสอดเป็นบุตรของเจ้ามรดกจึงเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกซึ่งถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ ส่วนโจทก์ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก การที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความจึงเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ แม้ท้ายคำร้องระบุว่าขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยผิดหลงก็ถือได้ว่าเป็นการร้องขอเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) หาใช่เป็นคำร้องสอดเข้าเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (2) ไม่
คำร้องขอเข้าเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) เป็นการร้องขอเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่ผู้ร้องสอดมีอยู่อันมีลักษณะเป็นคำขอบังคับอยู่ในตัว และเมื่อผู้ร้องสอดไม่ได้เรียกร้องอะไร เพียงแต่ขอให้ยกฟ้องเท่านั้น จึงไม่จำต้องมีคำขอบังคับโดยแจ้งชัดในคำร้องสอด ตามมาตรา172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1 (3) อีก
ก่อนคดีนี้โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ต่อมาผู้ร้องสอดยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องสอดเป็นบุตรของเจ้ามรดก ผู้ร้องสอดจึงเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดก ส่วนโจทก์มิใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก โจทก์จึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้ร้องสอดเป็นผู้จัดการมรดกแทน ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องสอดเป็นบุตรของเจ้ามรดกผู้ร้องสอดจึงเป็นทายาทโดยธรรมลำดับผู้สืบสันดานมีสิทธิรับมรดก ส่วนโจทก์เป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดก เป็นทายาทในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิรับมรดก โจทก์จึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก มีคำสั่งเพิกถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้ร้องสอดเป็นผู้จัดการมรดกแทน คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์และผู้ร้องสอดเป็นคู่ความรายเดียวกันกับคดีนี้ คำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์และผู้ร้องสอดซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคแรก เมื่อศาลในคดีก่อนฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องสอดเป็นบุตรของเจ้ามรดก โจทก์จะโต้แย้งว่าผู้ร้องสอดมิได้เป็นบุตรของเจ้ามรดกหาได้ไม่
แม้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์คนหนึ่งที่พิพากษาคดีนี้เคยพิพากษาคดีแพ่งในศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์กับผู้ร้องสอดพิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องขอตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก การที่ผู้พิพากษาคนนั้นพิพากษาคดีนี้ในชั้นอุทธรณ์หาเป็นฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 11 (5) ไม่ เพราะคดีดังกล่าวโจทก์กับผู้ร้องสอดพิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องขอตั้งผู้จัดการมรดก แต่คดีนี้โจทก์กับผู้ร้องสอดพิพาทกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก คดีทั้งสองเรื่องเพียงแต่เกี่ยวข้องกันมิใช่คดีเดียวกันโจทก์จะยกขึ้นมาเป็นเหตุคัดค้านผู้พิพากษาที่พิพากษาคดีนี้ในชั้นอุทธรณ์ตามมาตรา 11 (5) หาได้ไม่

Share