คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4298/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้รถยนต์ขนส่งและซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษ อันเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดและมีคำขอให้ริบของกลางตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32,33ซึ่งคำขอในลักษณะเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายกำหนดให้พนักงานอัยการต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นให้สั่งริบทรัพย์สิน ต่างจากพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 ซึ่งกำหนดให้พนักงานอัยการต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นให้สั่งริบทรัพย์สินฉะนั้น เมื่อโจทก์มิได้ขอให้ศาลสั่งริบของกลางตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องต่อศาล และศาลมีอำนาจสั่งริบของกลางได้ตามที่โจทก์ขอมาในคำขอท้ายคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1จำนวน 174 เม็ด น้ำหนัก 15.83 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนและรถยนต์หมายเลขทะเบียนป – 1974 เลย ที่จำเลยกับพวกใช้เป็นยานพาหนะซุกซ่อนและขนส่งเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4,7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83ริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่งจำคุก 7 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกคำขอริบรถยนต์ของกลาง

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่ามีเหตุจะต้องยกคำขอให้ริบรถยนต์ของกลางเพราะพนักงานอัยการมิได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 30 หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่าเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป -1974เลย ซึ่งจำเลยกับพวกใช้เป็นยานพาหนะขนส่งและซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษ อันเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และมีคำขอท้ายคำฟ้องให้ริบของกลางตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ซึ่งคำขอให้ริบของกลางในลักษณะเช่นนี้ไม่มีกฎหมายกำหนดให้พนักงานอัยการต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินต่างจากคำขอให้ริบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 30 ซึ่งกำหนดให้พนักงานอัยการต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นเพื่อขอให้สั่งริบทรัพย์สิน ฉะนั้น เมื่อโจทก์มิได้ขอให้ศาลสั่งริบของกลางตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 30 จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องต่อศาลแต่อย่างใด และศาลมีอำนาจสั่งริบของกลางได้ตามที่โจทก์ขอมาในคำขอท้ายคำฟ้องกรณีไม่มีเหตุจะต้องยกคำขอให้ริบรถยนต์ของกลางซึ่งเป็นยานพาหนะที่จำเลยกับพวกใช้ในการกระทำความผิดคำสั่งของศาลล่างทั้งสองที่ให้ริบรถยนต์ของกลางชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share