คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4294/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตอนที่ผู้เสียหายเห็นหน้าคนร้ายภายในห้องนอนคนร้ายก็ กระโดดคร่อมตัวผู้เสียหายและชกต่อยทำร้ายผู้เสียหายทันที ซึ่งในภาวะเช่นนั้นผู้เสียหายย่อมต้องปัดป้องจากการ ถูกทำร้ายซึ่งคนร้ายชกต่อยผู้เสียหาย 40-50 ครั้ง โอกาสที่ ผู้เสียหายจะดึงหมวดอ้ายโม่ง หลุดออกทางศีรษะ คนร้าย ขึ้นไปด้านบนจึงไม่น่าเป็นไปได้ นอกจากนี้เมื่อคนร้าย กระโดดจากชั้นสองลงไปชั้นล่างและหลบหนีไปนั้น ส.เห็นหน้าคนร้ายยังสวมหมวกอ้ายโม่ง เดินไปทางซอยห่างจากบ้าน ประมาณ 7-8 วา ก่อนขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปแสดงให้เห็นว่า นับแต่คนร้ายคร่อมตัวผู้เสียหายและทำร้ายผู้เสียหาย จนกระทั่งหลบหนีไปทางหลังบ้านคนร้ายยังสวมหมวกอ้ายโม่ง อยู่ ที่ผู้เสียหายเบิกความว่าคนร้ายเอาหมวกอ้ายโม่ง ติดตัวไปด้วย และตอบทนายถามค้านว่าเมื่อจำเลยเห็นว่าผู้เสียหายเห็นหน้า แล้วก็ได้นำหมวกอ้ายโม่ง มาสวมคลุมกลับไปอย่างเดิมอีก ไม่น่าเชื่อเพราะผู้เสียหายรู้จักจำเลยเมื่อเห็นหน้าคนร้าย ว่าเป็นจำเลยแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปกปิดใบหน้าอีก หลังเกิดเหตุเมื่อ ส. มาพบผู้เสียหายที่ชั้นล่างของบ้านก็ไม่ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับตัวคนร้ายทั้งตอนที่ เจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยก็ปรากฏว่าจำเลยนอนอยู่ บนแคร่ใต้ถุนบ้าน ไม่ได้แสดงอาการหลบหนีแต่ประการใด ทั้งหมวกอ้ายโม่ง ที่คนร้ายสวมใส่ก็ไม่ได้ยึดจากจำเลย เป็นของกลาง ส่วนรองเท้าแตะสีดำยี่ห้อคอมพาสที่ยึดได้จากบ้านผู้เสียหายเป็นของกลางจำเลยก็ปฏิเสธว่ามิใช่ของจำเลย เมื่อโจทก์มีแต่คำเบิกความของผู้เสียหายปากเดียวโดยขาดพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนเช่นนี้ ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายมีน้ำหนักน้อย ที่ผู้เสียหาย อ้างว่าดึงหมวกอ้ายโม่ง ออกสามารถมองเห็นหน้าคนร้าย คือจำเลยขณะถูกทำร้ายจึงเป็นที่น่าสงสัยว่าจะเป็นความจริง หรือไม่ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัย ตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ ต้องยกประโยชน์ แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 80, 92, 334, 340 ตรี ริบรถจักรยานยนต์ของกลางและเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสี่, 80 จำคุก 10 ปี เพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายเข้าไปในบ้านซึ่งเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนางสมฤทธิ์ จินดาวัฒนะ ผู้เสียหาย แล้วคนร้ายใช้กำลังประทุษร้ายชกต่อยผู้เสียหายบริเวณใบหน้า อกและชายโครงหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.3 ท้ายฟ้อง มีปัญหาว่า จำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ โจทก์มีประจักษ์พยานคือผู้เสียหายเพียงปากเดียวที่เบิกความว่า จำเลยเป็นคนร้ายจึงมีปัญหาต่อไปว่า คำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ผู้เสียหายทราบว่าจำเลยเป็นคนร้ายก็เพราะดึงหมวกอ้ายโม่ง ที่คนร้ายสวมไว้ออกจึงสามารถเห็นหน้าคนร้าย แต่คำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวมีพิรุธทั้งขัดต่อเหตุผลเพราะปรากฏว่าเมื่อผู้เสียหายเห็นคนร้ายภายในห้องนอนคนร้ายก็กระโดดคร่อมตัวผู้เสียหายชกต่อยทำร้ายผู้เสียหายในทันที ซึ่งในภาวะเช่นนั้นผู้เสียหายย่อมปัดป้องจากการถูกทำร้ายซึ่งคนร้ายชกต่อยผู้เสียหาย 40-50 ครั้งโอกาสที่ผู้เสียหายจะดึงหมวกอ้ายโม่ง ให้หลุดออกทางศีรษะ คนร้ายขึ้นไปด้านบนจึงไม่น่าเป็นไปได้ นอกจากนี้เมื่อคนร้ายกระโดดจากชั้นสองลงไปชั้นล่างและหลบหนีไปนั้น นายสมชาย สมใจเพ็ง เห็นคนร้ายยังสวมหมวกอ้ายโม่ง เดินไปทางปากซอยห่างจากบ้านประมาณ 7-8 วา ก่อนขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป แสดงให้เห็นว่านับแต่คนร้ายคร่อมตัวผู้เสียหายและทำร้ายผู้เสียหายจนกระทั่งหลบหนีไปทางหลังบ้านตามที่นายสมชายพบเห็นนั้น คนร้ายยังสวมหมวกอ้ายโม่ง อยู่ ที่ผู้เสียหายเบิกความว่าคนร้ายเอาหมวกอ้ายโม่ง ติดตัวไปด้วย และตอบทนายจำเลยถามค้านว่าเมื่อจำเลยเห็นว่าผู้เสียหายเห็นหน้าแล้วก็ได้นำหมวกอ้ายโม่งมาสวมคลุมกลับไปอย่างเดิมอีกไม่น่าเชื่อเพราะผู้เสียหายรู้จักจำเลย เมื่อเห็นหน้าคนร้ายว่าเป็นจำเลยก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปกปิดใบหน้าอีก หลังเกิดเหตุเมื่อนายสมชายมาพบผู้เสียหายที่ชั้นล่างของบ้านก็ไม่ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับตัวคนร้าย ที่ผู้เสียหายนำความไปแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจและนำเจ้าพนักงานตรวจไปจับจำเลยก็ปรากฏว่าจำเลยนอนอยู่บนแคร่ใต้ถุนบ้าน ไม่ได้แสดงอาการหลบหนีแต่ประการใด ทั้งหมวกอ้ายโม่ง ที่คนร้ายสวมใส่ก็ไม่ได้ยึดจากจำเลยเป็นของกลาง ส่วนรองเท้าแตะสีดำยี่ห้อคอมพาสที่ยึดได้จากบ้านผู้เสียหายเป็นของกลาง จำเลยก็ปฏิเสธว่ามิใช่ของจำเลย มูลเหตุที่ผู้เสียหายนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยอาจเป็นเพราะคนร้ายวิ่งหลบหนีไปทางบ้านจำเลย ผู้เสียหายจึงเข้าใจว่าจำเลยเป็นคนร้ายก็เป็นได้ เมื่อโจทก์มีแต่คำเบิกความของผู้เสียหายปากเดียวโดยขาดพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนเช่นนี้ ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายมีน้ำหนักน้อย ที่ผู้เสียหายอ้างว่าดึงหมวกอ้ายโม่งที่คนร้ายสวมใส่ออกสามารถมองเห็นหน้าคนร้ายคือจำเลยขณะถูกทำร้าย จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าจะเป็นความจริงหรือไม่ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share