คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4291/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจตามเวลาที่ศาลกำหนดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104 (2) ต้องไม่เกินกว่าที่เด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ เว้นแต่กรณีที่ศาลมีคำสั่งตามวรรคสุดท้ายของมาตรา 104 ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมายจะต้องระบุให้ชัดเจนในคำพิพากษาด้วยว่าเมื่อจำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกไว้ในเรือนจำตามเวลาที่ศาลกำหนดด้วย คดีนี้จำเลยเกิดวันที่ 25 พฤษภาคม 2525 แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยจะมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์วันที่ 24 พฤษภาคม 2549 ดังนั้น กำหนดเวลาในการฝึกและอบรมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 3 ปี 10 เดือน จึงเกินกว่าที่จำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายข้างต้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 288, 289 และ 371 และริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 เมื่อได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม ทั้งสภาพของความผิด รายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนราธิวาส ประกอบคำแถลงของผู้ปกครองจำเลยแล้ว ปรากฏว่าขณะกระทำความผิด จำเลยอายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 7 ปี 6 เดือน แต่เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดเพราะความเยาว์วัยหากรับตัวไว้บำบัดฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ อบรมขัดเกลานิสัยและความประพฤติน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยยิ่งกว่าจะให้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) (ที่ถูกประกอบมาตรา 105 ด้วย) จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 3 ปี เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษาโดยให้หักวันควบคุมออก ริบมีดของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกฝนและอบรมขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 3 ปี 10 เดือน นับแต่วันพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) นั้น เห็นว่า การเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังสถานพินิจตามเวลาที่ศาลกำหนดตามมาตรา 104 (2) นั้น ต้องไม่เกินกว่าที่เด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ เว้นแต่กรณที่ศาลมีคำสั่งตามวรรคสุดท้ายของมาตรา 104 ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมายจะต้องระบุให้ชัดเจนในคำพิพากษาด้วยว่าเมื่อจำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้ว ให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกไว้ในเรือนจำตามเวลาที่ศาลกำหนดด้วย คดีนี้จำเลยเกิดวันที่ 25 พฤษภาคม 2525 แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยจะมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์วันที่ 24 พฤศภาคม 2549 ดังนั้น กำหนดเวลาในการฝึกและอบรมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเกินกว่าที่จำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายข้างต้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูงจนกว่าจำเลยจะมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ตามมาตรา 104 (2) ประกอบมาตรา 105 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share