แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คูเมืองเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (3) แม้จะมีสภาพเป็นที่ตกกล้า ทำนาหรือปลูกอาคารห้องแถวร้านค้า เป็นที่บ้านที่สวนตามกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ ก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินผู้ใดจะครอบครองช้านานเพียงใด ย่อมไม่มีสิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ดังนั้น จำเลยจะยกระยะเวลาครอบครองขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหาได้ไม่
ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2509 คูเมืองได้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตโบราณสถานแต่กระทรวงการคลังก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุไว้ด้วยดังนั้นคูเมืองจึงเป็นที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาตรา 4 กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ตามมาตรา 5 และมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ครอบครองคูเมืองนั้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ราชพัสดุเลขทะเบียนที่ ๑๘๗๔๕ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ เป็นคูเมืองสุรินทร์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เมื่อประมาณ ๖๐ ปีมานี้ จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินแปลงนี้ทำเป็นที่ตกกล้า ถมที่ดินทำการปลูกสร้างอาคารห้องแถวให้ผู้อื่นเช่าทำเป็นร้านค้า ในเดือนกันยายน ๒๕๑๘ จำเลยขอรังวัดออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวในนามจำเลย โจทก์คัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งให้คู่กรณีไปดำเนินคดีทางศาลขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินห้ามจำเลยเกี่ยวข้องและห้ามเจ้าพนักงานออกโฉนดให้แก่จำเลย ให้ขับไล่จำเลยและบริวารและให้รื้ออาคารออกไปจากที่ดินแปลงนี้
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะหากคูเมืองเป็นโบราณสถานตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๔ ย่อมเป็นอำนาจของกรมศิลปากรที่จะดูแลรักษา ที่พิพาทไม่ใช่คูเมือง แต่เป็นสวนผลไม้และนาซึ่งราษฎรได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาจนตกทอดมาถึงจำเลยจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วย เจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาไม่มีผู้ใดขัดขวาง ได้แจ้งการครอบครองและเรียกภาษีบำรุงท้องที่จนได้กรรมสิทธิ์โจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นที่ราชพัสดุอยู่ในความปกครองของโจทก์ ให้ขับไล่จำเลยและบริวารและรื้อถอนอาคารออกไปจากที่พิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า กำแพงเมืองสุรินทร์มี ๒ ชั้นกำแพงชั้นนอกมีคูเมืองทั้งด้านในและด้านนอก ที่พิพาทเป็นคูเมืองด้านในของกำแพงชั้นนอก แล้ววินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๓) และเป็นที่ราชพัสดุที่โจทก์ขึ้นทะเบียนไว้ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เลขทะเบียนที่ ๑๘๗๔๕ ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ แม้ต่อมาที่พิพาทจะมีสภาพเป็นที่ตกกล้าทำนา หรือปลูกอาคาร ห้องแถว ร้านค้า ก็ยังเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยจะครอบครองช้านานเพียงใด แม้จะเป็นที่บ้านที่สวนตามกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จก็ตามจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ จะยกระยะเวลาครอบครองขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหาได้ไม่ จำเลยไม่มีสิทธิในที่พิพาท และแม้ที่พิพาทจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตโบราณสถาน ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๙ แต่ก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่โจทก์ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุไว้ ที่พิพาทจึงเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่พิพาทตามมาตรา ๕ เมื่อจำเลยครอบครองที่พิพาทอยู่ไม่ยอมออกไปโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
พิพากษายืน