คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4284/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุว่า กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกเดือนภายในวันสิ้นเดือน ในเวลาทำงานของผู้ให้กู้แต่ถ้าวันกำหนดชำระดอกเบี้ยเช่นว่านี้ตรงกับวันหยุดของผู้ให้กู้ก็ให้เลื่อนไปชำระในวันทำงานที่ถัดไป เป็นข้อตกลงกำหนดเวลา ให้จำเลยผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีชำระดอกเบี้ยแต่ละเดือน หากจำเลย ไม่ชำระดอกเบี้ยภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ให้ถือว่าจำเลยผิดนัด ชำระดอกเบี้ยซึ่งโจทก์มีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้าเป็นต้นเงินสำหรับคิดดอกเบี้ยในเดือนถัดไปตามประเพณีของธนาคาร แต่โจทก์และจำเลยมิได้ถือปฏิบัติเคร่งครัดว่าโจทก์จะต้องคิดดอกเบี้ยใน วันสิ้นเดือน หากโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ตรงวันสิ้นเดือน โจทก์ก็มิได้ คิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยในระยะเวลาไม่ถึงรอบบัญชีรายเดือน เมื่อจำเลยยอมรับว่าโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยจากจำเลยถูกต้องตามสัญญา การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ตรงกับวันสิ้นเดือน จึงไม่ผิดจากข้อตกลงในสัญญา
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเพียงว่า ให้จำเลยใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยมิได้ระบุชั้นศาล ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ชัดแจ้ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,194,419.67 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 3,009,519.22บาท ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 2,687 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดจำนวน 2,711,468.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 2,597,164.74 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 2,687 บาท และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4ร่วมรับผิดจำนวน 484,951.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ18 ต่อปี ในต้นเงิน 412,354.48 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 132 และ น.ส.3 ก. เลขที่ 1654พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยทั้งสี่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดจากข้อตกลงโดยโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยภายในวันสิ้นเดือน แต่โจทก์นำดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงินก่อนวันสิ้นเดือน และคิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533 โดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1ทราบก่อน กับคำนวณดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง โจทก์บอกเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยที่ 1 ด้วยวาจาเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2533สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2533 หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น และไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เพราะขณะโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี เท่านั้น ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 16 มีนาคม 2533 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,190,695.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินเบี้ยประกันจำนวน 2,874.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 2.687บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 1ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 484,951.46 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 412,354.48 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบก็ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 132 และที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1654 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่ตนจะต้องรับผิดต่อโจทก์ และกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1และที่ 2 เพียงประการเดียวว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยผิดจากข้อตกลงในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 2 ที่ระบุว่า “กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกเดือนภายในวันสิ้นเดือน ในเวลาทำงานของผู้ให้กู้ แต่ถ้าวันกำหนดชำระดอกเบี้ยเช่นว่านี้ตรงกับวันหยุดของผู้ให้กู้ ก็ให้เลื่อนไปชำระในวันทำงานที่ถัดไป” นั้น เป็นข้อตกลงกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแต่ละเดือนหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระดอกเบี้ยภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ให้ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระดอกเบี้ย โจทก์มีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้าเป็นต้นเงินสำหรับคิดดอกเบี้ยในเดือนถัดไปตามประเพณีของธนาคารซึ่งข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ถือปฏิบัติเคร่งครัดว่าโจทก์จะต้องคิดดอกเบี้ยในวันสิ้นเดือนประกอบกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวันที่ 25 เมษายน 2532 ตามเอกสารหมาย จ.2 แม้โจทก์จะคิดดอกเบี้ยไม่ตรงวันสิ้นเดือน ก็ปรากฏตามการ์ดบัญชีเอกสารหมาย จ.5ว่าโจทก์มิได้คิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ในระยะเวลาไม่ถึงรอบบัญชีรายเดือนตามสัญญากู้ดังกล่าวที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในเดือนแรกที่ทำสัญญา ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แล้วจึงไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระทั้งจำเลยที่ 1 มิได้เคยโต้แย้งคัดค้านการคิดดอกเบี้ยตามประเพณีของธนาคารดังกล่าวแต่อย่างใด และยังเบิกความยอมรับว่า เมื่อสิ้นเดือนเมษายน 2534 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ธนาคารโจทก์จำนวน 2,190,695.90 บาท ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับแล้วว่าโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ถูกต้องตามสัญญา การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ตรงกับวันสิ้นเดือนจึงไม่ผิดจากข้อตกลงในสัญญา

อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเพียงว่าให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยมิได้ระบุชั้นศาลจึงยังไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”

พิพากษายืนให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดในค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ตนจะต้องรับผิดต่อโจทก์ และกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share