คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยทั้งสองโดยแบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงหนึ่งของจำเลยทั้งสอง ส่วนทางพิพาท อยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งสองแปลง ทางพิพาทแม้จะมีโจทก์และ ประชาชนใช้เป็นทางผ่านเข้าออกเป็นเวลาช้านานแต่ก็เป็น การใช้โดยถือวิสาสะทั้งโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าเจ้าของที่ดินเดิม และจำเลยทั้งสองได้อุทิศทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยตรง และโดยปริยาย จึงไม่มีผลทำให้ทางพิพาทกลับกลายเป็นทางสาธารณะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อประตูที่ปิดกั้นและห้ามมิให้ขัดขวางการใช้ทางสาธารณะดังกล่าวอีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 11301 ของโจทก์อยู่ติดที่ดินโฉนดเลขที่ 1638และ 3309 ของจำเลยทั้งสอง โดยที่ดินโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1638 ส่วนทางพิพาทอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1638และ 3309 ทั้งสองแปลง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่นั้น โจทก์เบิกความว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะที่โจทก์และประชาชนอื่นใช้ผ่านเข้าออกมาช้านานความข้อนี้แม้โจทก์มีนายจำลอง โชคประเสริฐ นายแช่ม เหมือนแก้วนายประเสริฐ หุตะเจริญ นายเติม รัตนะสินวงศ์ นายสมศักดิ์แสงอภัย นางลูกอินทร์ ทองดีและนายสวาท ปิ่นทอง เป็นพยานสนับสนุน แต่ก็มิได้ยืนยันว่า นางแก้วมารดาจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของเดิมได้อุทิศทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ ทั้งการใช้เดินผ่านทางพิพาทน่าจะเป็นไปโดยถือวิสาสะเพราะโจทก์และพยานโจทก์เป็นญาติและรู้จักคุ้นเคยกับจำเลย ส่วนที่มีชาวบ้านฝั่งตรงข้ามแม่น้ำบางปะกงใช้ทางพิพาทด้วยนั้น ได้ความจากนายประเสริฐพยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าที่เอาเรือมาจอดตรงขึ้นทางพิพาทเพราะได้ฝากเรือไว้กับจำเลยและคนที่เอาเรือมาฝากก็เป็นญาติหรือรู้จักจำเลยนายเติมพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า นอกจากท่าน้ำซึ่งอยู่ติดทางพิพาทแล้ว ยังมีท่าน้ำของที่ว่าการอำเภอบางปะกงอยู่ห่างประมาณ 500 เมตรและท่าน้ำของวัดท่าสะอ้านอยู่ห่างประมาณ 200 เมตร โดยทั้งสองท่ามีโป๊ะ ลงเรือใหญ่ได้แต่ท่าน้ำบ้านนางแก้วเป็นเพียงบันไดลงน้ำ ทางเท้าพิพาทไม่มีชื่อเป็นซอยและถนน คนที่ใช้ทางพิพาทส่วนมากเป็นคนรู้จักกันจากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวแสดงว่าใช้ทางพิพาทเพื่อความสะดวกบางประการเท่านั้น สำหรับข้อที่นายเชื่อมและนายเติม พยานโจทก์ซึ่งเป็นอดีตกำนันตำบลท่าสะอ้านเบิกความว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะนั้นก็ไม่น่ารับฟัง เพราะที่ดินโฉนดเลขที่ 3309 มีการรังวัดรับโฉนดตกค้างเมื่อปี 2489 และที่ดินโฉนดเลขที่ 1638 มีการรังวัดเพื่อแบ่งแยกที่ดินขายให้โจทก์เมื่อปี 2531 ตามเอกสารหมาย ล.9 ถึง ล.11 นั้น ไม่มีผู้ใดโต้แย้งว่ามีทางสาธารณะอยู่ในที่ดินทั้งสองโดยนายเชื่อมซึ่งได้รับมอบหมายจากนายอำเภอให้ไประวังแนวเขตที่สาธารณะในคราวที่จำเลยที่ 1 และนางแก้วกับพวกขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1638 ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่าที่ นาง แก้วแสดงการครอบครองทางพิพาทนั้นพยานไม่ได้คัดค้านยิ่งกว่านั้นนายเติมยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าเดิมบ้านนางแก้วสร้างอยู่ติดท่าน้ำ นางแก้วเลี้ยงไก่และต่อเรือ ทางดังกล่าวใช้เดินเข้าเล้าไก่ของนางแก้วบ้านจำเลยทั้งสองกับทางเท้าพิพาทไม่มีรั้วกั้น ทางเท้าพิพาทอยู่ในบริเวณบ้านของจำเลยตามภาพถ่ายหมาย จ.4 ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าก่อนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1638 นางแก้วและผู้เช่าที่ดินของของนางแก้วเคยใช้ทางพิพาทเข้าออก และนางแก้วกับจำเลยต่างยังแสดงเจตนายึดถือว่าทางพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของตนตลอดมาโดยโจทก์และประชาชนรวมทั้งราชการไม่เคยเข้าเกี่ยวข้องหรือปรับปรุงซ่อมแซมทางพิพาทแต่อย่างใดสภาพทางพิพาทตามภาพถ่ายหมาย จ.3 และ จ.4 ก็มิได้เป็นทางที่มีขึ้นหรือทำขึ้นสำหรับประชาชนใช้ในการจราจรตามกฎหมาย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงฟังไม่ได้ว่านางแก้วและจำเลยทั้งสองได้อุทิศทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยตรงและโดยปริยายแล้ว ฉะนั้นแม้จะได้ความว่าโจทก์และประชาชนใช้ทางพิพาทในที่ดินจำเลยทั้งสองผ่านเข้าออกเป็นเวลาช้านาน ก็เป็นการใช้โดยถือวิสาสะ ไม่มีผลทำให้ทางพิพาทกลับกลายเป็นทางสาธารณะ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้วคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างไม่ตรงกับรูปเรื่องในคดีนี้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share