แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ได้นำยาฆ่าแมลงซึ่งมีสารพิษชนิดมีโธมิลผสมน้ำใส่ในขวดยาลดไข้พาราเซตามอล ชนิดน้ำแล้วใช้ให้จำเลยที่ 1 นำไปให้ผู้เสียหายดื่มเมื่อผู้เสียหายดื่มยาลดไข้ผสมสารพิษชนิดมีโธมิลแล้วก็เกิดอาเจียนและจำเลยที่ 1 ใช้นิ้วล้วงคอให้ผู้เสียหายอาเจียน จนกระทั่งส. นำน้ำมาให้ดื่ม ผู้เสียหายก็อาเจียนอีกและไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยมีสาเหตุโกรธเคืองผู้เสียหายมาก่อน ประกอบกับสารพิษมีโธมิลต้องกินเข้าไปในปริมาณมากพอ จึงจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนี้ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย คงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 มีเพียงเจตนาทำร้ายผู้เสียหายให้เจ็บป่วยเท่านั้น และศาลย่อม ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 80, 83, 84, 289 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4), 80, 33 จำคุกตลอดชีวิตสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ริบของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ได้นำยาฆ่าแมลงซึ่งมีสารพิษชนิดมีโธมิลผสมน้ำใส่ในขวดยาลดไข้พาราเซตามอลชนิดน้ำ แล้วใช้ให้จำเลยที่ 1 นำไปให้ผู้เสียหายดื่มที่โรงเรียนบ้านต้องโคกกระแซ
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย คงมีเพียงเจตนาทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น เห็นว่า แม้จะตรวจพบสารมีโธมิลซึ่งเป็นสารพิษที่มนุษย์หรือสัตว์กินแล้วอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ผสมอยู่ในขวดยาลดไข้ที่ผู้เสียหายดื่มก็ตาม แต่ทางพิจารณาโจทก์ก็นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้นำเอาสารพิษมีโธมิลผสมใส่ในขวดยาลดไข้พาราเซตามอลให้ผู้เสียหายดื่มในปริมาณมากจนอาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้หรือไม่ กลับปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์เพียงว่า เมื่อผู้เสียหายดื่มยาลดไข้ผสมสารพิษชนิดมีโธมิลแล้วก็เกิดอาเจียน และจำเลยที่ 1 ใช้นิ้วล้วงคอให้อาเจียน จนกระทั่งนางสุทธีนำน้ำมาให้ดื่มก็อาเจียนอีกแสดงว่า จำเลยที่ 2 ผสมสารมีโธมิลในขวดยาลดไข้ให้ผู้เสียหายดื่มเข้าไปในปริมาณไม่มาก นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยมีสาเหตุโกรธเคืองผู้เสียหายมาก่อนประกอบกับยังได้ความจากรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.8 ว่า สารพิษมีโธมิลต้องกินเข้าไปในปริมาณมากพอ จึงจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การที่จำเลยที่ 2 เทสารพิษดังกล่าวผสมกับยาลดไข้พาราเซตามอลให้ผู้เสียหายกิน แสดงว่าสารพิษมีปริมาณไม่มากที่จะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 มีเพียงเจตนาทำร้ายผู้เสียหายให้เจ็บป่วยเพื่อให้นางระออทัยภริยาจำเลยที่ 2 ซึ่งหนีไปจากจำเลยที่ 2 กลับมาหาจำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 นำสืบเท่านั้นคดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเพียงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเท่านั้นศาลย่อมจะลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ให้จำคุก 3 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1