คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2135/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ทรัพย์พิพาทได้ประกาศขายทอดตลาด 6 ครั้ง โดยครั้งแรกและครั้งที่หกเป็นเวลานานห่างกัน 7 เดือน ครั้งสุดท้ายจำเลยคัดค้านว่าเป็นราคาต่ำ เมื่อผู้ที่ให้ราคาสูงสุดตลอดมามีแต่โจทก์ และเป็นเวลาที่ นาน พอที่ผู้ซื้อมีโอกาสเข้าสู้ราคา แต่ไม่มีบุคคลอื่นสนใจสู้ราคา ถึงแม้จะเลื่อนการขายทอดตลาดต่อไปอีก ก็ไม่แน่ว่าจะมีผู้ให้ราคาสูงกว่าโจทก์ ทั้งราคาที่โจทก์ให้สูงสุดไว้ในครั้งสุดท้ายต่ำกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ในครั้งแรกไม่มากแม้จะต่ำกว่าราคาประเมินครั้งหลังเกือบเท่าตัว ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นราคาต่ำที่ผิดปกติ เพราะราคาดังกล่าวเพียงแต่กะประมาณไว้เท่านั้นและไม่มีพฤติการณ์ใดที่จะแสดงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สุจริต เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์สมบูรณ์แล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดครั้งที่หกและขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวใหม่

ย่อยาว

มูลกรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 23856 ตำบลสันทราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 69 เศษ 5 ส่วน 10 ตารางวา พร้อมบ้านไม้สัก 3 หลัง ของจำเลยซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ที่ดินและบ้านที่ยึดเจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคา 550,000 บาท เจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคา887,150 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินและบ้านตามคำสั่งศาล รวม 6 ครั้ง ครั้งที่หนึ่งถึงครั้งที่สี่งดการขายทอดตลาดเพราะมีผู้ให้ราคาต่ำไป ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปตรวจสอบสภาพทรัพย์สินและตีราคาใหม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีไปตรวจสอบสภาพทรัพย์สินและตีราคาใหม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีไปตรวจแล้วตีราคาใหม่เป็นเงิน 996,764 บาท ครั้งที่ห้า งด การขายทอดตลาดเพราะมีผู้ให้ราคาต่ำอีก ครั้งที่หกโจทก์ให้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 520,000 บาท แต่จำเลยคัดค้านว่าราคาที่ผู้ประมูลซื้อสูงสุดต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันจริง และยังต่ำกว่าราคาประเมินถ้าหากมีการขายเกิดขึ้นจะทำให้จำเลยเสียหายมาก เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงรายงานต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว สั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวแก่โจทก์ผู้ให้ราคาสูงสุด จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิขอให้ศาลขายทอดตลาดทรัพย์ใหม่ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทรัพย์พิพาทเจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ครั้งแรก 550,000 บาทเจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคา 887,150 บาท ต่อมาวันที่ 27กุมภาพันธ์ 2530 เจ้าพนักงานบังคับคดี และนักวิชาการที่ดินของสำนักงานที่ดิน จังหวัดเชียงรายได้ตีราคาทรัพย์สินใหม่เป็นเงิน996,764 บาท ทรัพย์รายนี้ได้ประกาศขายมาแล้วรวม 6 ครั้ง ครั้งแรกมีผู้ให้ราคาสูงสุด 460,000 บาท ครั้งที่สอง ที่สาม ที่สี่และที่ห้าโจทก์เป็นผู้ให้ราคาสูงสุด 480,000 บาท ครั้งที่หกโจทก์เป็นผู้ให้ราคาสูงสุด 520,000 บาท ซึ่งจำเลยคัดค้านว่าเป็นราคาต่ำ แต่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทรัพย์แก่โจทก์ เห็นว่า ทรัพย์รายนี้ได้ประกาศขายครั้งแรกเมื่อวันที่23 กันยายน 2529 และเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดได้ในครั้งที่หกเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2530 เป็นเวลานานเกือบ 7 เดือน เป็นเวลาที่นานพอที่ผู้ซื้อมีโอกาสเข้าสู้ราคา แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าผู้ที่ให้ราคาสูงสุดตลอดมามีแต่โจทก์เท่านั้น แสดงว่าบุคคลอื่นไม่สนใจสู้ราคา แม้จำเลยเองก็ไม่ปรากฏว่าได้ชักชวนผู้ใดให้มาสู้ราคาดังนั้นแม้จะเลื่อนการขายทอดตลาดต่อไปอีกก็ไม่แน่ว่าจะมีผู้ให้ราคาสูงกว่าโจทก์ ทั้งราคาที่โจทก์ให้สูงสุดในครั้งนี้จำนวน520,000 บาท ก็ต่ำกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ในครั้งแรกไม่มาก แม้จะต่ำกว่าราคาประเมินครั้งหลังเกือบเท่าตัวก็ถือไม่ได้ว่าเป็นราคาต่ำที่ผิดปกติ เพราะราคาดังกล่าวเพียงแต่กะประมาณไว้เท่านั้น ทั้งไม่มีพฤติการณ์ใดที่จะแสดงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สุจริต เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์สมบูรณ์แล้ว โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองจำเลยไม่มีสิทธิขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดครั้งที่หก และขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวใหม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share