แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง และแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ อันเป็นการกระทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธาร เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 ประกอบด้วยมาตรา 31วรรคสอง (3) ซึ่งมาตรา 31 วรรคสอง กำหนดให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปีการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี จึงเป็นการลงโทษต่ำกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินป่าสงวนและปลูกบ้านอยู่อาศัยมานานแล้ว และปลูกต้นไม้และผลอาสินทำมาหากินซึ่งโจทก์มิได้คัดค้านว่าไม่เป็นความจริง ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อนเห็นควรให้โอกาสจำเลยได้แก้ไขฟื้นฟูตนเองในสังคมภายนอก การรอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลยน่าจะเป็นมาตรการที่เหมาะสมมากกว่า แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาขอให้รอการลงโทษแต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างลงโทษจำเลยไม่เหมาะสมก็ย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 31 วรรคสอง, 35 ริบน้ำมันดีเซลของกลางและสั่งให้จำเลยคนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารจำเลยออกจากป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (3) จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 1 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีตลอดจนจำนวนเนื้อที่ที่จำเลยบุกรุกแล้วไม่รอการลงโทษ ริบของกลาง ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารจำเลยออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาโดยรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาแก้เป็นให้จำคุกจำเลย 1 ปี และลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน เป็นการใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยต่ำกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น พิเคราะห์แล้วคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง และแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ อันเป็นการกระทำให้เกิดการเสื่อมเสียสภาพป่าสงวนแห่งชาติ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 ประกอบด้วยมาตรา 31วรรคสอง (3) ในกรณีความผิดดังกล่าว มาตรา 31 วรรคสอง กำหนดโทษให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย1 ปี จึงเป็นการลงโทษต่ำกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไม่ถูกต้องที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี อันเป็นโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้จึงถูกต้องแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยนั้นเห็นว่า ป่าสงวนแห่งชาติที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครอง ก่นสร้าง และแผ้วถางมีเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ ซึ่งเป็นเนื้อที่ไม่มากนัก ตามอุทธรณ์ของจำเลยก็อ้างว่าจำเลยครอบครองที่ดินป่าสงวนและปลูกบ้านอยู่อาศัยมานานแล้ว และปลูกต้นไม้และผลอาสินทำมาหากินดังปรากฏตามภาพถ่ายท้ายอุทธรณ์ซึ่งโจทก์มิได้แก้อุทธรณ์คัดค้านว่าไม่เป็นความจริง อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อนและโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็เป็นโทษจำคุกระยะสั้นการลงโทษจำคุกจำเลยไปทีเดียวไม่น่าจะเป็นผลดีในการแก้ไขฟื้นฟูให้จำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีเห็นควรให้โอกาสจำเลยสักครั้งเพื่อให้จำเลยได้แก้ไขฟื้นฟูตนเองในสังคมภายนอก การรอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลยน่าจะเป็นมาตรการที่เหมาะสมมากกว่า แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาขอให้รอการลงโทษ แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างลงโทษจำเลยไม่เหมาะสมก็ย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215และ 225 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษและไม่คุมความประพฤติจำเลยนั้นไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์คดีนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเพื่อเป็นการป้องปรามมิให้จำเลยกระทำผิดอีก เห็นควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงให้ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง ภายในระยะเวลาที่รอการลงโทษไว้นั้น และให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 36 ชั่วโมง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3