คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4272/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า ส. เป็นลูกจ้างทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือไม่ รถยนต์โจทก์เสียหายเพียงใด และคดีขาดอายุความหรือไม่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความ ประเด็นอื่นไม่ต้องวินิจฉัย พิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความและเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ว่าส. เป็นลูกจ้างและกระทำการในทางการที่จ้างหรือไม่กับค่าเสียหายมีเพียงใดเป็นประเด็นในคดีซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองได้นำสืบเสร็จสำนวนมาแล้วและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาให้เสร็จไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายแสง ลูกจ้างจำเลยทั้งสองขับรถยนต์ในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์เสียหายคิดเป็นเงิน 100,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองให้การว่า นายแสงไม่ได้เป็นลูกจ้างในการขับรถและไม่ได้กระทำการในทางการที่จ้าง รถยนต์โจทก์เสียหายไม่ถึง 100,000 บาทฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

ในวันชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่านายแสงเป็นลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือไม่ รถยนต์ของโจทก์เสียหายเพียงใด และคดีขาดอายุความหรือไม่

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีขาดอายุความประเด็นข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า นายแสงลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์รถยนต์ของโจทก์เสียหาย 100,000 บาทและคดีไม่ขาดอายุความ พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยทั้งสองฎีกาว่าศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยในข้อที่ว่านายแสงเป็นลูกจ้างและกระทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือไม่ กับค่าเสียหายมีเพียงใด การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเสียก่อนจึงไม่ชอบนั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ว่านายแสงเป็นลูกจ้างและกระทำการไปในทางการที่จ้างหรือไม่ กับค่าเสียหายมีเพียงใดนั้น เป็นประเด็นในคดีนี้ซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองได้นำสืบเสร็จสำนวนมาแล้ว และศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาให้เสร็จไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share