แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นที่ทำไร่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์มีเพียง น.ส.3 บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทอย่างมากก็เพียงแต่สิทธิครอบครอง แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองโดยการแย่งการครอบครองแต่การได้มาของโจทก์มิได้ จดทะเบียน โจทก์ก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยผู้ได้สิทธิ มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริต ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2517 โจทก์เข้าหักร้างถางพงที่ดินรกร้างว่างเปล่าเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 13ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และครอบครองทำสวนปลูกพืชผักโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยไม่มีผู้ใดอ้างสิทธิหรือรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ โจทก์จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าว ต่อมาปี 2522 โจทก์ได้ทราบว่าทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็น 2 แปลง จำนวน 2 ฉบับ ให้แก่ผู้อื่นมาก่อนที่โจทก์จะเข้าครอบครอง โดยหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ทั้งสองฉบับมีชื่อจำเลยที่ 1 รับมรดกของนายแหยมทรายแก้ว แต่โจทก์ก็ยังครอบครองตลอดมาจนถึงต้นปี 2529 จึงถือว่าโจทก์ได้แย่งสิทธิครอบครองจากจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1ได้โอนขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ราคา 100,000บาท โดยจำเลยที่ 2 รับโอนไว้โดยไม่สุจริตและจำเลยที่ 2 ได้กล่าวหาโจทก์ว่าบุกรุกเข้าไปในที่ดินซึ่งโจทก์ครอบครองอยู่เป็นเหตุให้โจทก์ถูกควบคุมดำเนินคดีอาญาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม2529 และต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2529 จำเลยที่ 2 เข้าไปปลูกบ้านลงในที่ดินพิพาทอันเป็นการแย่งสิทธิครอบครองของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวหัวมันเทศซึ่งโจทก์ปลูกไว้ในที่ดินก่อนหน้านั้นได้ ซึ่งปกติโจทก์จะขายได้เงินปีละไม่น้อยกว่า 50,000 บาท ขอให้พิพากษาแสดงว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและมีสิทธิในที่ดินดีกว่าจำเลยทั้งสองและขอให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนให้เป็นชื่อโจทก์ห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องในที่ดินอีกต่อไป ให้ขับไล่จำเลยที่ 2 ออกจากที่ดินพิพาทและให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์50,000 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เดิมที่ดินทั้งสองแปลงมีนายดี อิ่นชัยคำ และนายสม บุญส่ง เป็นผู้เข้าประโยชน์จนถึงปี 2510 ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ให้แก่บุคคลทั้งสอง ต่อมานายแหยม ทรายแก้ว บิดาจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงนั้นจากนายดีและนายสมโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนทั้งได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยถูกต้อง นายแหยมได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงโดยปลูกต้นมะม่วงและต้นไม้อื่นตลอดมาจนถึงแก่กรรมในปี 2516 หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 และทายาทอื่น ๆ เข้าไปครอบครองดูแลและเก็บผลอาสินในที่ดินทั้งสองแปลง ต่อมาจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแหยมไปขอรับโอนที่ดินมรดกตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทั้งสองแปลงต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างที่เจ้าพนักงานติดประกาศการขอรับมรดก โจทก์หรือบุคคลอื่นมิได้คัดค้าน ต่อมาวันที่31 มีนาคม 2529 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์หรือบุคคลอื่นมิได้คัดค้านเช่นเดียวกันโจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนรับโอนโดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน โจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2517 หรือไม่ จำเลยที่ 2 ไม่รับรอง หากมีการครอบครองก็เป็นเรื่องที่โจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากนายแหยม ทรายแก้วเพื่อทำกินเฉพาะในปี 2517 เท่านั้น หลังจากนั้นโจทก์ไม่ได้เข้าครอบครองอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 ก. เอกสารหมาย จ.3 และให้จำเลยที่ 2 ออกไปจากที่ดินพิพาทพร้อมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนั้นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2510 ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่ดินพิพาทจำนวน 2 ฉบับ มีเนื้อที่ฉบับละประมาณ 10 ไร่ ระบุชื่ออนายสม บุญส่ง และนายดี อิ่นชัยคำ เป็นผู้ทำประโยชน์คนละฉบับตาม น.ส.3 เอกสารหมาย จ.1, จ.2 และในวันเดียวกันนั้นมีการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่นายแหยม ทรายแก้ว บิดาจำเลยที่ 1 นายแหยมถึงแก่กรรมเมื่อปี 2516 ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2519 และวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแหยมรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นของตน วันที่ 31 มีนาคม 2529จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา100,000 บาท ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย ล.19 และทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ตามเอกสารหมาย จ.3 ให้แก่จำเลยที่ 2 แทน น.ส.3 ฉบับเดิม ต่อมาโจทก์และนายบุญปั๋น ใจเที่ยง น้องชายโจทก์ถูกพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ฟ้องกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.40 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่าจำเลยที่ 2 ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไม่ เห็นว่า ทรัพย์พิพาทในคดีนี้เป็นที่ทำไร่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ไร่นั้นได้อย่างมากก็เพียงแต่สิทธิครอบครองแม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในไร่พิพาทนั้นมาจริงดังโจทก์กล่าวอ้าง การได้มาของโจทก์ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ โจทก์ก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ได้บัญญัติบังคับไว้ ตามนัยคำพิพากษาที่ 326/2495 ระหว่าง นายขำ ป้องภัยโจทก์ นายบุญ พรมจำปา กับพวก จำเลย
ปัญหาต่อไปจึงมีว่า จำเลยที่ 2 ได้ซื้อสิทธิในที่ไร่พิพาทนั้นมาโดยสุจริตหรือไม่ โจทก์อ้างในฟ้องว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อไว้โดยไม่สุจริต แต่ตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่แสดงให้เห็นแม้แต่ข้อพิรุธสงสัยในเรื่องนี้เลย และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารให้ปรากฏว่า โจทก์ได้แสดงตนเป็นเจ้าของไร่พิพาทโจทก์คงมีนายบุญยเกื้อ เปาะทองคำ ทนายความของโจทก์เบิกความว่า การขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 นั้นการประกาศไม่ถูกต้อง เพราะมีการติดประกาศแต่เพียงที่ที่ว่าการกำนันและที่ว่าการอำเภอ แต่มิได้ประกาศไว้ที่ที่พิพาท ปรากฏตามสำเนาประกาศเอกสารหมาย จ.8 สำหรับการประกาศที่ถูกต้องนั้นต้องปรากฏตามสำเนาประกาศเอกสารหมาย จ.9 ประกาศขายที่พิพาทฉบับประกาศที่ติดไว้ในที่ดินพิพาทซ้อนกับประกาศฉบับติดไว้ที่ที่ทำการกำนันตามเอกสารหมาย จ.11 และโจทก์ตอบคำถามค้านว่าเมื่อปี 2529 ไม่เป็นประกาศขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ไปปิดที่ที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทอยู่ที่ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลสันกลาง อำเภอสันป่าตองจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ปลูกบ้านอาศัยในที่ดินพิพาท แต่ตามเอกสารหมาย จ.8,จ.9 และ จ.11 มีชื่อนายมนตรี ชัยมงคล กำนันตำบลอินทขิลเป็นผู้ปิดประกาศ ปรากฏว่ามีการปิดประกาศ ณ ที่ที่ดินพิพาทด้วยและจำเลยมีนายมนตรีเป็นพยานเบิกความยืนยันว่าได้นำประกาศการขายปิดไว้ ณ ที่ทำการกำนันและที่ต้นไม้ในที่ดินพิพาทจึงเชื่อได้ว่ามีการปิดประกาศการขายที่ดินพิพาท ณ ที่ดินพิพาทด้วยประกาศระบุปิดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2529 และจดทะเบียนขายกันในวันที่ 31 มีนาคม 2529 เป็นเวลาเกินกว่า 30 วัน การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่มิได้มีโฉนดและใบไต่สวนนั้นประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 77 บัญญัติว่า “การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ถ้าประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2497)ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497ข้อ 5 กำหนดว่า “การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นซึ่งต้องจดทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ให้ดำเนินการตามที่กล่าวในข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 โดยอนุโลมแต่ต้องประกาศการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมีกำหนด 30 วัน ฯลฯ” และข้อ 7 กำหนดว่า “ในการประกาศตามความในข้อ 5 ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้านภายในเวลากำหนดแล้วให้ดำเนินการจดทะเบียนต่อไป ฯลฯ” การจดทะเบียนขายที่พิพาทจึงเป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าวครบถ้วนจำเลยที่ 2 เบิกความว่าเมื่อเดือนมกราคม 2529 จำเลยที่ 1 มาเสนอขายที่ดินพิพาท แล้วจำเลยทั้งสองพากันไปดูที่ดินพิพาท ไม่พบผู้ใดอาศัยอยู่หรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงยื่นคำขอจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทกัน ก่อนจดทะเบียนขายจำเลยที่ 2 ได้พาเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อเปลี่ยนหลักฐาน น.ส.3 เดิม เป็นน.ส.3 ก. นายสุบิน ราษฎร์รวย พยานโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นลูกจ้างโจทก์ให้เฝ้าที่ดินพิพาทเบิกความตอบคำถามค้านว่า ในปี 2529มีเจ้าพนักงานที่ดินกับพวกรวม 5 คน มารังวัดที่ดินพิพาท นายส่งดียืนดูอยู่ด้วยและนายส่งดี ธรรมธราธารกุล พยานโจทก์เบิกความว่า พยานเห็นมีการรังวัดที่ดินพิพาทเมื่อเดือนกรกฎาคม2529 นายสุบินและนายปั๋นผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นน้องโจทก์อยู่ด้วย อันเป็นการเจือสมคำจำเลยที่ 2 แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์โต้แย้งอย่างใด รูปคดีบ่งชัดว่าจำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่พิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยไม่ทราบเลยว่าโจทก์ได้เข้าไปทำกินในที่พิพาทมาก่อนเป็นการรับโอนมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตทั้งได้จดทะเบียนสิทธินั้นโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงยกการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าโจทก์มีผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทตาม น.ส.3 ก. เอกสารหมาย จ.3และให้จำเลยที่ 2 ออกไปจากที่พิพาท ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น ฎีกาข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์