คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4265/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์แต่ผิดสัญญาโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายไปตามใบเสร็จรับเงินซึ่งระบุว่าค่าประมูลรถยนต์365,000บาทภาษีมูลค่าเพิ่ม25,550บาทยอมรวม390,550บาทเมื่อปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่1ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องกันเมื่อวันที่14กันยายน2533ก่อนที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่30)พ.ศ.2534ซึ่งเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจะใช้บังคับการที่โจทก์ได้รับเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม25,550บาทจากผู้ซื้อนำไปจ่ายให้แก่รัฐเป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเท่านั้นภาษีมูลค่าเพิ่ม25,550บาทจึงถือไม่ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่ประมูลขายได้ ข้อสัญญาที่ว่าผู้เช่าซื้อต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่จ่ายเป็นค่าเช่าซื้อแล้วจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินทั้งหมดที่จะต้องจ่ายถ้าหากว่าการเช่าซื้อดำเนินต่อไปตลอดระยะเวลาแห่งสัญญานั้นข้อตกลงเช่นนี้เป็นข้อกำหนดค่าตอบแทนการใช้แทนการใช้ทรัพย์ไว้ล่วงหน้ากรณีเลิกสัญญาเป็นการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับและในกรณีฟ้องเรียกราคารถยนต์เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา190/30มิใช่อายุความหกเดือนตามมาตรา563 ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ค่าติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์มิใช่เงินอื่นใดที่ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15ต่อปีตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อโจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา224เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน 81-2086 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 1,109,999 บาท โดยผ่อนชำระ 45 งวด งวดละเดือน เดือนละ24,667 บาท งวดสุดท้ายชำระ 24,651 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่1 พฤศจิกายน 2533 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 1 ของเดือน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง 12 งวดแล้วผิดนัดไม่ชำระตั้งแต่วันที่ 13 ซึ่งจะต้องชำระในวันที่1 พฤศจิกายน 2534 เป็นต้นมา โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2535 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาได้เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2535 โดยเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นเงิน 5,000 บาท โจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายได้เงิน 365,000 บาท ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อยังขาดอยู่อีก448,995 บาท โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันเดือนละ 16,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน เป็นเงิน 33,000 บาทและจากวันที่สัญญาเลิกกันถึงวันที่โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้เป็นเวลา 3 เดือน เป็นเงิน 49,500 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 536,495 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 536,495 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1ตามฟ้องจริง รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถบรรทุก 10 ล้อ จำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวต่อจากนางศรีวรรณ กันย์ศิริผู้เช่าซื้อคนก่อนในสภาพชำรุด เมื่อรับโอนมาแล้ว จำเลยที่ 1ต่อเติมตัวถังและซ่อมรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นเงิน 50,000 บาทจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาที่แน่นอน หากโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนก็ไม่เกิน 500 บาท โจทก์มิได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายโดยเปิดเผยแต่ขายให้นายพินิจอัญชลีอำนวยพร ในราคาต่ำกว่าความเป็นจริงทำให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดมากขึ้น สำเนาใบเสร็จรับเงินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 10ก็ระบุว่า โจทก์ได้รับเงินจากการนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายจำนวน 390,500 บาท มิใช่ 365,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในค่าเช่าซื้อส่วนที่ขาด เพราะมิได้มีข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อให้โจทก์เรียกได้ เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อส่วนที่ขาด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าใช้ทรัพย์หากโจทก์เสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท และไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์เพราะนับแต่วันบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1มิได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อและพร้อมที่จะส่งมอบคืนโจทก์ ซึ่งเป็นความผิดของโจทก์ที่ไม่มารับรถยนต์ดังกล่าวคืน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 221,633 บาทแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดเฉพาะค่าเช่าซื้อส่วนที่ขาดหรือค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน 180,000 บาทให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากค่าติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน และค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2533 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาเช่าซื้อและหนังสือค้ำประกัน เอกสารหมายจ.4 และ จ.5 หลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง 12 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 13 ซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 เป็นต้นมาอันเป็นการผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกัน โจทก์ได้ทวงถามให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2535โจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายไปตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.10 และโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์สมควรได้รับค่าติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเพียงใด โจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายไปได้ราคาเท่าใด โจทก์สมควรได้รับค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์เพียงใด ฟ้องโจทก์เรียกราคารถยนต์เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อขาดอายุความหรือไม่ และโจทก์สมควรได้รับดอกเบี้ยเพียงใดหรือไม่ สำหรับปัญหาว่าโจทก์สมควรได้รับค่าติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเพียงใดนั้น เห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำผู้ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อมานำสืบให้ประจักษ์ว่า ได้เสียค่าใช้จ่ายอะไรในการติดตามยึดที่ไหน อย่างไร ประกอบกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ก็อยู่ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการซึ่งเป็นปริมณฑลของกรุงเทพมหานครภูมิลำเนาโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์เป็นเงิน 1,500 บาทนั้นเหมาะสมแล้ว
ปัญหาว่าโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายไปได้ราคาเท่าใดนั้น ในข้อนี้โจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายไปตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.10 ตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวระบุว่า ค่าประมูลรถยนต์ 365,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 25,550 บาทยอดรวม 390,550 บาท เห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องกันเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2533 ก่อนที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ซึ่งเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจะใช้บังคับ การที่โจทก์ได้รับเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 25,550 บาท จากผู้ซื้อนำไปจ่ายให้แก่รัฐ เป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเท่านั้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 25,550 บาท จึงถือไม่ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่ประมูลขายได้
ปัญหาว่าโจทก์สมควรได้รับค่าใช้จ่ายหรือค่าขาดประโยชน์เพียงใดนั้น เห็นว่า ที่โจทก์เรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์มาในอัตราดังกล่าวนั้นเป็นจำนวนที่สูงเกินไป โดยมีจำนวนสูงเกือบเท่าค่าเช่าซื้อตามสัญญาซึ่งอัตราเดือนละ 24,667 บาทประกอบกับโจทก์มีนายวีรศักดิ์เพียงปากเดียวมาเบิกความเป็นพยานไม่มีหลักฐานอื่นสนับสนุนว่าโจทก์อาจนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกให้เช่าได้ในราคาที่อ้างจริง ทั้งไม่เป็นการแน่นอนว่าจะมีผู้มาเช่ารถยนต์จากโจทก์ได้ทุกวัน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เดือนละ 7,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เรียกราคารถยนต์เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 3 วรรคสอง ว่า ต่อมาโจทก์ได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายโดยวิธีประมูล โจทก์ตกลงขายให้แก่นายพินิจ อัญชลีอำนวยพรผู้เสนอราคาสูงสุดในราคา 365,000 บาท ดังนั้นราคารถยนต์จึงยังขาดอยู่อีก 448,995 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระเงินที่ขาดนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ข้อ 12 เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมาเป็นการฟ้องขอให้ชำระราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อจนครบตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 12 ซึ่งกำหนดว่า “ถ้าหากผู้เช่าซื้อบอกเลิกการเช่าซื้อตามข้อ 8 ของสัญญา หรือถ้าเจ้าของบอกเลิกการเช่าซื้อหรือกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินใหม่ดังเดิมตามสัญญา ผู้เช่าซื้อจะต้องจ่ายค่าซ่อมทรัพย์สินให้กลับคืนสู่สภาพดีตามที่ประมาณราคาขึ้น เพื่อชดใช้ค่าเสื่อมราคา และค่าเสียหายนอกเหนือจากค่าเช่าซื้อทุกงวดที่ค้างชำระอยู่แล้ว ตลอดทั้งเงินจำนวนอื่นใดที่จะต้องจ่ายตามสัญญานี้และจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่จ่ายเป็นค่าเช่าซื้อแล้วจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดที่จะต้องจ่าย ถ้าหากว่าการเช่าซื้อดำเนินต่อไปตลอดระยะเวลาแห่งสัญญา” ข้อสัญญาที่ว่าจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่จ่ายเป็นค่าเช่าซื้อแล้วจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินทั้งหมดที่จะต้องจ่าย ถ้าหากว่าการเช่าซื้อดำเนินต่อไปตลอดระยะเวลาแห่งสัญญานั้น ข้อตกลงเช่นนี้เป็นข้อกำหนดค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์ไว้ล่วงหน้ากรณีเลิกสัญญา เป็นการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ และในกรณีฟ้องเรียกราคารถยนต์เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 190/30 มิใช่อายุความหกเดือนได้ความว่าสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2535และโจทก์ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ 448,995 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ได้วินิจฉัยแล้วว่าราคารถยนต์ที่เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ตามสัญญามีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับสำหรับเบี้ยปรับนั้นหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ เนื่องจากราคารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นการคิดราคารวมกับค่าเช่า และการใช้รถยนต์จะต้องมีการเสื่อมราคา พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ 180,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว
ปัญหาว่าโจทก์สมควรได้รับดอกเบี้ยเพียงใดหรือไม่นั้น เห็นว่าราคารถยนต์เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ ค่าติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์ มิใช่เงินอื่นใดที่ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คงมีสิทธิเรียกร้องให้ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 เท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน221,633 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share