แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยไม่ซื้อหุ้นให้โจทก์ตามที่โจทก์สั่งซื้ออันเป็นความผิดตามมาตรา 21 และมีบทลงโทษตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2527 ยกเลิกความในมาตรา 21 และมาตรา 42 เดิม โดยมิได้บัญญัติถึงลักษณะความผิดที่โจทก์ฟ้องไว้อีก จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง มิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ฉะนั้นการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ก็ตาม การวินิจฉัยก็ไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ เพราะแม้จะเป็นความผิด จำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยไม่ซื้อหุ้นให้โจทก์ตามที่โจทก์สั่งซื้อ โดยมีเจตนาทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๕๒, ๓๕๓, ๓๕๔, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๒๑, ๔๒
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะเรื่องอำนาจฟ้องตามมาตรา ๒๑แห่งพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๗
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยไม่ซื้อหุ้นให้โจทก์ตามที่โจทก์สั่งซื้อ โดยมีเจตนาทุจริต อันเป็นความผิดตามมาตรา ๒๑, ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๗ ปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๗ ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นไป ยกเลิกความในมาตรา ๒๑และมาตรา ๔๒ เดิม โดยมิได้บัญญัติถึงลักษณะความผิดที่โจทก์ฟ้องในพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๗ อีก จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง มิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ฉะนั้นการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ก็ตาม การวินิจฉัยก็ไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ เพราะแม้จะเป็นความผิด จำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน