คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยจำคุก 6 ปี และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 2 ไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางมีกำหนด 2 ปี ขั้นสูง 3 ปีนับแต่วันพิพากษา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534มาตรา 104(2) คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์เฉพาะในข้อที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 121 เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาว่า มิได้กระทำความผิดโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาจึงไม่ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาดังกล่าว ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจในการลงโทษตามที่จำเลยฎีกาแม้จะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับปัญหาที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสมแก่สภาพแห่งความผิด ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 83, 33 ริบอาวุธมีดของกลาง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 10,950 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุ 16 ปีเศษ จำเลยที่ 2 อายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ให้จำคุกคนละ6 ปี พิเคราะห์รายงานของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนนทบุรีแล้วเห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองจะกระทำความผิดคดีนี้เป็นครั้งแรก แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นกิจจะลักษณะชอบใช้ชีวิตโดยอิสระ ผู้ปกครองก็ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ สำหรับจำเลยที่ 2 แม้ขณะนี้จะศึกษาเล่าเรียน แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นภัยต่อสังคมอย่างยิ่งประกอบกับเป็นคดีอุกฉกรรจ์มีอัตราโทษสูง อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534มาตรา 104(2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางมีกำหนดขั้นต่ำคนละ 2 ปี ขั้นสูงคนละ 3 ปี สำหรับจำเลยที่ 1 ให้นับแต่วันที่ถูกควบคุมตัว ส่วนจำเลยที่ 2 นับแต่วันพิพากษาริบอาวุธมีดของกลางให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 10,950 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เห็นว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 และอนุญาตให้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกอีก 3 คน ร่วมกันปล้นทรัพย์สร้อยคอทองคำหนัก1 บาท จำนวน 1 เส้น ราคา 4,800 บาท สร้อยข้อมือทองคำหนัก1 บาท จำนวน 1 เส้น ราคา 4,800 บาท และเหรียญหลวงพ่อคูณเลี่ยมทองคำหนัก 1 สลึง จำนวน 1 องค์ ราคา 1,350 บาท รวมราคาทรัพยื 10,950 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยที่ 1กับพวกร่วมกันใช้อาวุธมีดจี้ขู่เข็ญผู้เสียหาย เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้ในวันเกิดเหตุ พร้อมยึดมีด 3 เล่มเป็นของกลาง
คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบว่ามิได้กระทำผิด และอ้างว่าได้ลงชื่อในบันทึกการจับกุมโดยจำเลยที่ 2ไม่ได้อ่านและเจ้าพนักงานตำรวจไม่อ่านให้ฟังนั้น เป็นเพียงข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้
ปัญหาต่อไปมีว่ามีเหตุรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษแก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2จำคุก 6 ปี และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 2 ไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางมีกำหนด 2 ปีขั้นสูง 3 ปี นับแต่วันพิพากษา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534มาตรา 104(2) คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 121 จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่ามิได้กระทำความผิดและขอให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดและขอให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาและรับฎีกาจำเลยที่ 2 มานั้น เห็นว่า เนื่องจากคดีนี้จำเลยที่ 2 ฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดและเป็นฎีกาที่ไม่ต้องห้ามดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยให้แล้วข้างต้น ปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจในการลงโทษตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาจึงเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับปัญหาที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในกรณีนี้ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสมแก่สภาพแห่งความผิด ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ แต่สำหรับคดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแก่จำเลยที่ 2 เหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน

Share