แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าพนักงานของรัฐและทรัพย์หรือเอกสารใดซึ่งเป็นของทางราชการหรือของรัฐนั้นอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นที่จะปกครองหรือรักษาไว้ถูกทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ดังนี้ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงและนับว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย หากโจทก์ซึ่งเป็นราษฎรจะได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยก็เป็นเพียงผู้เสียหายโดยพฤตินัย มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้เอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖, ๑๓๗, ๑๕๗, ๑๕๘, ๓๒๘, ๘๓, ๘๖, ๙๑ และให้โฆษณาคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับคำฟ้องหมิ่นประมาทในหนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐ เดลินิวส์ เดลิมิเรอร์ ดาวสยามและบางกอกโพสต์ ฉบับละ ๗ วัน ติดต่อกัน โดยให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ให้ประทับฟ้องโจทก์เฉพาะฟ้องข้อ ๒ (๒,๔) สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ถึงที่ ๖ ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖, ๓๒๘, ๘๓ และสำหรับจำเลยที่ ๒ ให้ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖, ๘๓ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๘ หรือไม่ เห็นว่า กรณีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๘ นั้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ ๒ หมวด ๒ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ และทรัพย์หรือเอกสารใดซึ่งเป็นของทางราชการหรือของรัฐนั้นอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นที่จะปกครองหรือรักษาไว้ เมื่อตนทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ดังนี้ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตามบทบัญญัติมาตรานี้โดยตรงและนับว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย หากโจทก์จะได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์ก็เป็นเพียงผู้เสียหายโดยพฤตินัย มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าอำนาจฟ้องผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๘ เป็นหน้าที่โดยเฉพาะของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเท่านั้นที่จะฟ้องร้องเอาโทษแก่ผู้กระทำความผิด ราษฎรไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้เอง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๘ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ในความผิดฐานนี้นั้น ชอบแล้ว
พิพากษายืน