คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4252/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์จำเลยกำหนดให้รับรถภายในเดือนพฤศจิกายน 2535 จำเลยมีสิทธิที่จะส่งมอบรถยนต์ให้แก่โจทก์ในวันหนึ่งวันใดก็ได้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวดังนั้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าวสิทธิเรียกร้องเอาเงินมัดจำคืนของโจทก์จึงยังไม่อาจบังคับได้ การนับอายุความเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องจึงต้องเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดไปแล้วคือเริ่มนับในวันที่ 1 ธันวาคม 2535 อันเป็นวันที่จำเลยผิดนัดและโจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ และการฟ้องเรียกเอาเงินมัดจำคืนกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงฟ้องได้ภายในกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2535นางจิมาพร ศรีโภศัย ซึ่งเป็นพนักงานขายของจำเลยได้ติดต่อโจทก์ให้ซื้อรถยนต์ของจำเลย โดยโจทก์จะต้องสั่งจองก่อนแล้วจำเลยจะจัดหารถยนต์รุ่นดังกล่าวให้ได้ภายในไม่เกินเดือนพฤศจิกายน 2535 แต่ต้องจองเป็นเงิน 20,000 บาทโจทก์ตกลงและชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยในวันดังกล่าวต่อมาโจทก์ได้ติดต่อขอรับรถยนต์ดังกล่าว พนักงานฝ่ายขายของจำเลยแจ้งว่า จำเลยยังไม่มีรถยนต์ตามที่สั่งจองไว้ จนกระทั่งเกินกำหนดที่ได้ตกลงกันไว้ซึ่งเป็นการผิดสัญญา ต่อมาปลายเดือนธันวาคม 2535 จำเลยยังไม่สามารถส่งรถยนต์ที่โจทก์สั่งจองได้โจทก์จึงซื้อรถยนต์ที่บริษัทอื่นและขอเงินมัดจำคืน แต่จำเลยไม่ยอมคืน โจทก์ได้รับความเสียหายคือ เงินค่ามัดจำจองรถยนต์20,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยผิดนัด คือวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปี เป็นเงินดอกเบี้ย 3,000 บาท รวมเป็นเงิน23,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 23,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 20,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ตามใบรับเงินจองระบุว่ากำหนดรับรถยนต์ภายในเดือนพฤศจิกายน 2535 โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 8 กันยายน 2535 แต่โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่30 พฤศจิกายน 2537 คดีจึงขาดอายุความ 2 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม2535 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาเฉพาะข้อกฎหมายเพียงประการเดียวว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะตามใบรับเงินจองรถยนต์เอกสารหมาย จ.2 ระบุว่ากำหนดรับรถภายในเดือนพฤศจิกายน 2535 มิใช่ระบุว่ากำหนดรับรถตั้งแต่หรือนับแต่เดือนพฤศจิกายน 2535 ดังนั้น กำหนดรับรถจึงนับแต่วันที่8 กันยายน 2535 อันเป็นวันถัดจากวันที่จำเลยรับเงินจองจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2535 ขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้จึงเริ่มนับแต่วันที่ 8 กันยายน 2535 อายุความเริ่มนับแต่วันที่ 8 กันยายน 2535 และเงินมัดจำเป็นส่วนอุปกรณ์ของการซื้อขายจึงมีกำหนดอายุความเท่ากัน 2 ปี โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2537 จึงขาดอายุความแล้ว ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กำหนดรับรถภายในเดือนพฤศจิกายน 2535ตามใบรับเงินจองรถยนต์เอกสารหมาย จ.2 นั้น เป็นช่วงระยะเวลาที่จำเลยมีสิทธิที่จะส่งมอบรถยนต์ตามใบรับเงินจองให้แก่โจทก์ในวันหนึ่งวันใดก็ได้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จำเลยยังมิได้ละเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินมัดจำค่ารถยนต์คืนจากจำเลย ดังนั้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าวสิทธิเรียกร้องเอามัดจำคืนของโจทก์จึงยังไม่อาจบังคับได้การนับอายุความเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องจึงต้องเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดในเดือนพฤศจิกายน 2535 ไปแล้ว คือเริ่มนับในวันที่1 ธันวาคม 2535 อันเป็นวันที่จำเลยผิดนัดและโจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ และการฟ้องเรียกเอาเงินมัดจำคืนกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงฟ้องได้ภายในกำหนด 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share