คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4251/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้นำเรียกร้องให้จำเลยชี้แจง กรณีด.ลูกจ้างคนหนึ่งของจำเลยถูกตำรวจจับกุมในข้อหาลักทรัพย์ของจำเลยกับนัดแนะให้ลูกจ้างรวมตัวกันเพื่อกระทำการอย่างหนึ่งเมื่อจำเลยให้ตำรวจชี้แจงในเรื่องดังกล่าวแล้วโจทก์ยังไม่พอใจได้นัดแนะให้ลูกจ้างคอยฟังรายละเอียดในตอนเย็นวันนั้นเมื่อการกระทำของโจทก์ดังกล่าวศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยยังไม่ได้รับความเสียหายกรณีจึงยังไม่เข้าเหตุตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ว่าลูกจ้างได้ทำให้ทรัพย์สินของบริษัทเสียหายซึ่งจำเลยถือเป็นเหตุที่ร้ายแรงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47และยังไม่เป็นความผิดอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา583จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะโจทก์ทั้งสองได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกรณีนายดาวรุ่งถูกหาว่าลักทรัพย์และถูกเจ้าหน้าที่ของจำเลยรุมทำร้าย จึงขอให้จำเลยชี้แจงข้อเท็จจริง แต่จำเลยหาว่าโจทก์ทั้งสองปลุกระดมพนักงานและฝ่าฝืนข้อบังคับอย่างร้ายแรงซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองมีเจตนาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายโดยการปลุกระดมชักชวนให้พนักงานของจำเลยหยุดเครื่องจักรผสมซีเมนต์ทำการต่อต้านและยุยงไม่ให้พนักงานอื่นเข้าทำงาน จำเลยจึงต้องปลดโจทก์ทั้งสองออกจากงาน โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิร้องทุกข์กล่าวหานายดาวรุ่งการดำเนินคดีเป็นเรื่องของเจ้าพนักงานตำรวจจะหาว่าจำเลยกลั่นแกล้งไม่ได้ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ที่จะเรียกให้จำเลยชี้แจง เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจชี้แจ้งแล้วโจทก์ทั้งสองยังได้นัดให้พนักงานคอยฟังรายละเอียดอีกแสดงว่าโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริตใจ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่จำเลยยังไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยได้กำหนดเหตุที่จะลงโทษลูกจ้างที่กระทำผิดวินัยด้วยการไล่ออกจากงานฐานผิดระเบียบวินัยไว้ตามข้อ 32 โดยระบุเหตุไว้รวม 13 ข้อ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุที่ร้ายแรง ถ้าหากลูกจ้างผู้ใดกระทำผิดเพียงเหตุหนึ่งเหตุใดก็จะถูกไล่ออกจากงานโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์ทั้งสองเป็นผู้นำเรียกร้องให้จำเลยชี้แจงในเรื่องที่นายดาวรุ่งลูกจ้างคนหนึ่งของจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในข้อหาลักทรัพย์ของจำเลย กับนัดแนะให้ลูกจ้างของจำเลยรวมตัวกันเพื่อกระทำการอย่างหนึ่ง และเมื่อจำเลยได้ให้เจ้าพนักงานตำรวจชี้แจงในเรื่องที่นายดาวรุ่งถูกจังกุมดำเนินคดีแล้วโจทก์ทั้งสองยังไม่พอใจได้นัดแนะให้ลูกจ้างคอยฟังรายละเอียดในตอนเย็นวันเดียวกันเท่านั้น ซึ่งการกระทำของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยยังไม่ได้รับความเสียหาย กรณีจึงยังไม่เข้าเหตุตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย ข้อ 32(7) ที่ว่า “ในกรณีที่ลูกจ้าง (พนักงาน) ได้ทำให้ทรัพย์สินของบริษัทเสียหาย” อันจะถือเป็นเหตุร้ายแรง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยผู้เป็นนายจ้างกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 47 และกรณียังไม่เป็นความผิดอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสอง พิพากษายืน

Share