คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1556-1557/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันที่มีข้อความว่า ถ้านายธ.พ้นจากหน้าที่ตัวแทนในการขายของบริษัท. เนื่องจากบริษัทบอกเลิกสัญญาหรือด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดก็ตาม. สัญญาค้ำประกันฉบับนี้ยังไม่ยกเลิกจนกว่าจะครบกำหนด 6 เดือนนับตั้งแต่นายธ.ได้พ้นจากหน้าที่นั้น. หมายความว่า แม้นายธ.จะพ้นหน้าที่ตัวแทนไปแล้วก็ตาม. หนี้อันเกิดจากสัญญาตัวแทนที่จะต้องชำระก็หาได้หมดสิ้นไปทันทีไม่.อาจมีหนี้ที่นายธ.ทำขึ้นหลังที่สัญญาตัวแทนระงับลงแล้วอีกบางประการก็ได้.ซึ่งผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อไปอีก 6 เดือน. หาใช่ว่าพอพ้น 6 เดือนแล้ว ความรับผิดใดๆที่ผู้ค้ำประกันมีอยู่เดิมก็จะยกเลิกไปด้วยไม่.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาแล้วพิพากษารวมกัน โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนมีใจความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 12พฤษภาคม 2501 จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันกับบริษัทโจทก์ค้ำประกันนายธวัช ตันติกุล ตัวแทนในการขายจักร์เย็บผ้าพาฟฟ์ของบริษัทโจทก์โดยจำเลยยอมรับผิดชอบในการกระทำใด ๆ ของนายธวัชนับตั้งแต่วันที่12 พฤษภาคม 2501 เป็นต้นไป ถ้าการกระทำของนายธวัชก่อให้บริษัทโจทก์ได้รับความเสียหายหรือก่อหนี้สินไว้กับบริษัทโจทก์ จำเลยยอมรับผิดชดใช้ให้บริษัทโจทก์เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 30,000 บาทโดยไม่ต้องฟ้องนายธวัชก่อน และเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2502จำเลยทำหนังสือสัญญาค้ำประกันนายธวัชอีกฉบับหนึ่ง ในการขายเครื่องพิมพ์ดีดและเครื่องคำนวณเลขยี่ห้อโอลีเวตตีของบริษัทโจทก์ โดยจำเลยยอมรับผิด มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับสัญญาประกันฉบับแรกแต่มีจำนวนเงินที่จะต้องรับผิดในจำนวนไม่เกิน 40,000 บาทครั้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2506 พนักงานตรวจบัญชีบริษัทโจทก์ตรวจพบว่านายธวัชได้ขายจักรเย็บผ้าพาฟฟ์เก็บเงินสดค่าเช่าซื้อไปแล้วไม่นำเงินส่งให้บริษัทจำนวน 72,557 บาท กับขายเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องคำนวณเลขไปและไม่นำเงินส่งบริษัทเป็นเงิน 16,083 บาท แล้วนายธวัชได้หลบหนีไป ต่อมาพนักงานตำรวจจับตัวนายธวัชได้ นายธวัชรับว่าได้ยักยอกเงินบริษัทโจทก์ไปจริง ศาลพิพากษาลงโทษนายธวัชไปแล้วบริษัทโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันชำระเงินรายนี้ จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินในสำนวนแรก30,000 บาท ในสำนวนหลังอีก 16,083 บาท จำเลยให้การทั้งสองสำนวนเป็นทำนองเดียวกันมีใจความว่าโจทก์เป็นผู้ประมาทเลินเล่อ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ตกลงไว้กับจำเลย จำเลยได้มีหนังสือบอกเลิกการค้ำประกันนายธวัชให้บริษัทโจทก์ทราบแล้วเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2506 โจทก์ไม่มีสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทโจทก์เพิ่งมาฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2507 เป็นการฟ้องเมื่อสัญญาค้ำประกันได้ยกเลิกไปโดยเด็ดขาดแล้ว พิพากษายกฟ้องทั้งสองสำนวน โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงินโจทก์ทั้งสองสำนวนตามฟ้อง จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาให้บริษัทโจทก์ทราบแล้วก็ตาม จำเลยก็หาพ้นความรับผิดไปได้ไม่ เพราะนายธวัชได้ยักยอกเงินค่าขายสินค้าดังกล่าวไปในระหว่างที่ยังเป็นตัวแทนของบริษัทโจทก์ เมื่อนายธวัชยังไม่ได้ชำระเงินให้บริษัทโจทก์ จำเลยจึงเป็นผู้ค้ำประกัน ต้องเป็นผู้รับผิดชดใช้แทนภายในวงเงินตามสัญญาค้ำประกัน และตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ 5 ที่ว่าเมื่อนายธวัชพ้นจากหน้าที่นั้น หมายความว่าแม้นายธวัชจะพ้นหน้าที่ตัวแทนไปแล้วก็ตาม หนี้อันเกิดจากสัญญาตัวแทนที่จะต้องชำระก็หาได้หมดสิ้นไปทันทีไม่ อาจมีหนี้ที่นายธวัชทำขึ้นหลังจากที่สัญญาตัวแทนระงับลงแล้วอีกบางประการก็ได้ ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อไปอีก 6 เดือน หาใช่ว่าพอพ้น 6 เดือนแล้วความรับผิดใด ๆ ที่จำเลยมีอยู่แล้วก็จะยกเลิกไปด้วยไม่ พิพากษายืน.

Share