คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4247/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ผู้เสียหายจึงเรียกให้จอดรถข้างทางเพื่อจับกุม ขณะผู้เสียหายยืนอยู่บริเวณไฟเลี้ยวด้านขวาห่างจากรถประมาณ 1 ศอก และหันหน้าเฉียงเข้าหารถเพื่อจดหมายเลขทะเบียนรถได้ยินเสียงเร่งเครื่องยนต์และจำเลยขับรถเคลื่อนมาข้างหน้า ผู้เสียหายจึงกระโดดขึ้นไปบนฝากระโปรงหน้ารถและจับยึดที่ปัดน้ำฝนไว้ จำเลยขับรถแล่นออกไป ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยกระทำก็เพื่อจะหลบหนีผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้จับกุม หากจำเลยมีเจตนาฆ่าคงกระทำโดยการขับรถเบียดกระแทกหรือพุ่งเข้าชนผู้เสียหายทันทีในขณะผู้เสียหายกำลังก้มจดหมายเลขทะเบียนรถ อันเป็นช่วงโอกาสที่จำเลยจะกระทำเช่นนั้นได้เพราะเป็นระยะใกล้ชิดกันและผู้เสียหายไม่ทันได้ระวังตัว หลังจากที่ผู้เสียหายกระโดดขึ้นไปอยู่บนฝากระโปรงรถและจำเลยยังคงขับแล่นต่อไปรวมเป็นระยะทางประมาณ 6 ถึง 7 กิโลเมตร เป็นเหตุการณ์ที่ใกล้ชิดต่อเนื่องจากเหตุการณ์ตอนแรก จึงน่าเชื่อว่าจำเลยขับรถไม่เร็วมากนัก พฤติการณ์เป็นไปได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะหลบหนีให้พ้นการจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจเพียงอย่างเดียว ยังไม่ถึงขั้นพยายามฆ่าเจ้าพนักงานโดยเล็งเห็นผล คดีคงฟังได้เพียงว่าจำเลยมีความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๘๐, ๙๑, ๑๓๘, ๒๘๙ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๔๒, ๖๔ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๒๑, ๒๒, ๑๕๒
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๓๘ วรรคสอง, ๒๘๙ (๒) ประกอบมาตรา ๘๐ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง, ๖๔ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง, ๒๒ (๒), ๑๕๒ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ ฐานต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา ๙๐ จำคุกตลอดชีวิต ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ปรับ ๕๐๐ บาท ฐานไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจราจรไฟสีแดง ปรับ ๑,๐๐๐ บาท รวมเป็นจำคุกตลอดชีวิต และปรับ ๑,๕๐๐ บาท คำให้การของจำเลยในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๓ คงจำคุก ๓๓ ปี ๔ เดือน และปรับ ๑,๐๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา ๒๙, ๓๐
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน คงให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน จำคุก ๑ ปี ปรับ ๓,๐๐๐ บาท ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ แล้ว คงจำคุก ๘ เดือน ปรับ ๒,๐๐๐ บาท เมื่อรวมกับโทษปรับในความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถและฐานไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจราจรไฟสีแดงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก ๘ เดือน ปรับ ๓,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี โดยคุมความประพฤติจำเลยไว้ ๒ ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ๓ เดือนต่อครั้ง กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรกำหนดจำนวน ๒๐ ชั่วโมง ตาม ป.อ. มาตรา ๕๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุดาบตำรวจ ส. ผู้เสียหาย เป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานตำรวจจราจร ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ขณะผู้เสียหายปฏิบัติหน้าที่อำนวยการจราจรอยู่ที่บริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุซึ่งมีสัญญาณไฟจราจร จำเลยขับรถยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ เมื่อถึงสี่แยกที่เกิดเหตุจำเลยได้ขับรถเลี้ยวขวาฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง ผู้เสียหายเรียกให้จำเลยจอดรถเพื่อจับกุม จำเลยจอดรถข้างทางอยู่ครู่หนึ่งแล้วขับรถแล่นออกไป ผู้เสียหายกระโดดขึ้นไปอยู่บนฝากระโปรงหน้ารถที่จำเลยขับ จำเลยขับรถต่อไปจนกระทั่งไปจอดที่หน้าบ้านจำเลย จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดี
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนที่จำเลยจะขับรถแล่นออกไปจากที่จอดอยู่ข้างทางตามที่ผู้เสียหายเรียกให้จอดนั้น ผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อจำเลยจอดรถข้างทางแล้วผู้เสียหายเดินเข้าไปหาจำเลยทางด้านคนขับและแจ้งแก่จำเลยว่าขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง พร้อมกับขอดูใบอนุญาตขับรถเพื่อออกใบสั่ง จำเลยพูดว่าไอ้บ้าเมาหรือไง ไปให้พ้น เมื่อผู้เสียหายบอกว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยก็ยังออกปากไล่ผู้เสียหายให้ออกไป ผู้เสียหายเห็นว่าพูดกันไม่รู้เรื่องจึงเดินไปด้านหน้าเพื่อจดหมายเลขทะเบียนรถ และเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้เสียหายไปยืนอยู่ที่บริเวณไฟเลี้ยวด้านขวาห่างจากรถประมาณ ๑ ศอก และหันหน้าเฉียงเข้าหารถเพื่อมองแผ่นป้ายทะเบียนรถ ขณะก้มดูหมายเลขทะเบียนรถได้ยินเสียงเร่งเครื่องยนต์ ผู้เสียหายมีความรู้สึกว่าจำเลยคงจะขับรถเคลื่อนแน่นอนและจำเลยก็ขับรถเคลื่อนมาข้างหน้า เมื่อรถเคลื่อนเข้ามาหาผู้เสียหาย ด้วยความตกใจและสัญชาตญาณการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่จะต้องจับกุมผู้กระทำความผิด จึงกระโดดขึ้นไปบนฝากระโปรงหน้ารถและจับยึดที่ปัดน้ำฝนไว้ การกระทำของจำเลยที่ขับรถแล่นออกไปจากที่จอดตามที่ผู้เสียหายเบิกความดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นไปได้ว่าจำเลยกระทำไปก็เพื่อที่จะหลบหนีผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้จับกุม ซึ่งหากจำเลยมีเจตนาฆ่าคงจะกระทำโดยการขับรถเบียดกระแทกหรือพุ่งเข้าชนผู้เสียหายทันทีในขณะที่ผู้เสียหายกำลังก้มดูหมายเลขทะเบียนรถ อันเป็นช่วงโอกาสที่จำเลยจะกระทำเช่นว่านั้นได้เพราะเป็นระยะที่ใกล้ชิดกันและเป็นขณะที่ผู้เสียหายไม่ทันได้ระวังตัว ส่วนเหตุการณ์หลังจากที่ผู้เสียหายกระโดดขึ้นไปอยู่บนฝากระโปรงหน้ารถที่จำเลยขับแล้ว จำเลยยังขับรถแล่นต่อไปจนกระทั่งไปจอดที่หน้าบ้านจำเลยซึ่งผู้เสียหายเบิกความอ้างว่า รวมเป็นระยะทางประมาณ ๖ ถึง ๗ กิโลเมตร นั้น ก็เป็นเหตุการณ์ที่ใกล้ชิดต่อเนื่องจากเหตุการณ์ตอนแรกที่จำเลยขับรถแล่นออกจากที่จอดดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นพฤติการณ์ที่เป็นไปได้ที่จำเลยมีเจตนาที่จะหลบหนีให้พ้นการจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจเพียงอย่างเดียวและยังไม่ถึงขั้นพยายามฆ่าเจ้าพนักงานโดยเล็งเห็นผลการกระทำของตนแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงคงฟังได้เพียงว่า การที่จำเลยขับรถแล่นออกไปจากที่เกิดเหตุ โดยมีผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจอยู่บนฝากระโปรงหน้ารถที่จำเลยขับ จนกระทั่งไปจอดที่หน้าบ้านจำเลยเพื่อหลบหนีเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้จับกุมจำเลยในความผิดฐานขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงและฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ อันเป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share