แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้เสียหายที่ 2 ส่งมอบบัตรเครดิตไปให้ผู้เสียหายที่ 1 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ที่ผู้เสียหายที่ 1 ระบุไว้ในใบสมัครสมาชิกบัตรเครดิต แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะย้ายออกไปจากบ้านเช่าหลังดังกล่าวแล้ว แต่ผู้เสียหายที่ 2 ก็มิได้มีเจตนาส่งมอบบัตรเครดิตให้แก่จำเลยกับพวกที่เข้ามาอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวต่อจากผู้เสียหายที่ 1 กรณีจึงมิใช่เป็นการส่งมอบบัตรเครดิตให้แก่จำเลยกับพวกโดยสำคัญตัวผิดว่าจำเลยกับพวกคือผู้เสียหายที่ 1 เมื่อจำเลยกับพวกรับบัตรเครดิตไว้และยึดถือเป็นของตนเองเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยทุจริตเป็นการแย่งการครอบครอง การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ความผิดฐานลักบัตรเครดิตเป็นความผิดสำเร็จในตัวโดยอาศัยเจตนาแยกต่างหากจากความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอม และฐานฉ้อโกง การกระทำตามฟ้องจึงเป็นความผิด 2 กรรม แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเป็น 2 กรรม ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยเป็น 2 กรรมได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ความผิดฐานฉ้อโกงกฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งในกรณีนี้คือเจ้าของร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนที่ผู้เสียหายที่ 2 ต้องจ่ายเงินให้แก่ร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่แทนจำเลยกับพวกนั้นเป็นไปตามสัญญาที่ผู้เสียหายที่ 2 มีกับร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นสถานที่รับบริการใช้บัตรเครดิต ความเสียหายที่ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับเป็นความเสียหายในทางแพ่ง ไม่ใช่ความเสียหายที่ได้รับจากการที่ถูกจำเลยกับพวกหลอกลวงหรือปกปิดข้อเท็จจริง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยตรงต่อสถานที่รับบริการใช้บัตรเครดิต กรณีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 2 แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะต้องจ่ายเงินให้แก่เจ้าของร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ไม่ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจเรียกให้จำเลยคืนเงินแทนผู้เสียหายที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 264, 265, 268, 341, 342 (1), 83, 90, 91 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 7,100 บาท ให้แก่บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่ 2 ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก, 264, 265, 268, 341, 342 (1) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นบทที่มีอัตราโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 7,100 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า จำเลยโทรศัพท์มาคุยกับพยานเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2545 รับว่าเป็นผู้นำบัตรเครดิตของพยานไปใช้และจะชดใช้ค่าเสียหายให้ทั้งหมด พยานนัดให้จำเลยมาพบในวันรุ่งขึ้นเวลา 18 นาฬิกา ครั้นถึงเวลานัดจำเลยมาพบพยานต่อหน้ามารดาและนายสุวิทย์ เจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยรับว่าเป็นผู้นำบัตรเครดิตของพยานไปใช้และจะรับผิดค่าใช้จ่ายทั้งหมด พยานจึงให้จำเลยเจรจาตกลงกับนายสุวิทย์เอง นายสุวิทย์เบิกความว่า หลังจากรับแจ้งจากผู้เสียหายที่ 1 ว่าไม่ได้รับบัตรเครดิตของผู้เสียหายที่ 2 ที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้ยื่นใบสมัครไว้แล้ว พยานได้ตรวจสอบจากระบบคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายที่ 2 พบว่ามีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ออกให้ผู้เสียหายที่ 1 แล้วเป็นเงิน 19,000 บาทเศษ ตามสำเนารายการการใช้บัตรเครดิต พยานโจทก์อีกปากหนึ่ง คือนายอนุรักษ์ ก็เบิกความยืนยันว่า วันที่ 12 สิงหาคม 2545 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา มีหญิงวัยรุ่นอายุประมาณ 20 ปี ไว้ผมยาวและใส่เหล็กดัดฟันเข้ามาเลือกซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ร้านจ๊ะเอ๋ เซฮาโล ซึ่งพยานเป็นเจ้าของ ครั้งแรกจะขอซื้อโทรศัพท์ยี่ห้อโนเกียรุ่นท๊อป ราคา 12,000 บาท โดยส่งบัตรเครดิตให้พยานลองรูดบัตรว่าผ่านวงเงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่ เมื่อเครื่องอนุมัติวงเงินดังกล่าวแล้ว หญิงวัยรุ่นขอเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์ที่จะซื้อเป็นรุ่นอื่นที่มีราคา 7,100 บาท ซึ่งถูกกว่าโดยมีจำเลยเข้ามาช่วยเลือกซื้อด้วย ในที่สุดตกลงซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่ราคา 7,100 บาท โดยหญิงวัยรุ่นใช้บัตรเครดิตชำระค่าโทรศัพท์ดังกล่าวต่อหน้าจำเลย ส่วนจำเลยนำสืบเจือสมพยานโจทก์ แต่อ้างว่าไม่ได้ร่วมรู้เห็นในการกระทำผิดของนางสาววรศิริบุตรสาว หากแต่ที่ไปเจรจาและตกลงชดใช้ค่าใช้จ่ายที่มีการใช้บัตรเครดิตที่ออกให้ผู้เสียหายที่ 1 เป็นการไปเจรจาแทนนางสาววรศิริบุตรสาวเท่านั้นและเหตุที่จำเลยกับสามีจำเลยรับเอกสารซึ่งภายในมีบัตรเครดิตที่ออกให้ผู้เสียหายที่ 1 ก็เพราะเข้าใจว่าเป็นเอกสารที่ส่งถึงนางสาววรศิริบุตรสาวจำเลยจึงรับไว้แทน แต่เมื่อบุตรสาวแจ้งว่าไม่ใช่เอกสารที่ส่งถึงตนก็ได้บอกให้บุตรสาวนำไปคืนไปรษณีย์แล้ว เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสามเบิกความสอดคล้องต้องกันและเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน พยานโจทก์ทั้งสามไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย ประกอบกับได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยมีอาชีพรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า และนางสาววรศิริยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเป็นนักศึกษาในพระบรมราชานุเคราะห์ในสมเด็จพระบรมราชินีนาถโดยได้ทุนการศึกษาเดือนละ 10,000 บาท และยังต้องทำงานหารายได้เสริมจากการเป็นแด๊นเซอร์ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน และขณะเกิดเหตุนางสาววรศิริยังต้องยืมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเพื่อนใช้ จึงไม่น่าเชื่อว่านางสาววรศิริจะมีรายได้เพียงพอที่จะซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เองและได้รับอนุมัติให้ถือบัตรเครดิตในชื่อของตนเองได้ตามที่จำเลยอ้าง ข้ออ้างของจำเลยจึงมีพิรุธ ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันรับบัตรเครดิตซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 ไว้ การที่ผู้เสียหายที่ 2 ส่งบัตรเครดิตไปให้ผู้เสียหายที่ 1 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ที่ผู้เสียหายที่ 1 ระบุไว้ในใบสมัครสมาชิกบัตรเครดิต แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะย้ายออกไปจากบ้านเช่าหลังดังกล่าวแล้ว แต่ผู้เสียหายที่ 2 ก็มิได้มีเจตนาส่งมอบบัตรเครดิตให้แก่จำเลยกับพวกที่เข้ามาอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวต่อจากผู้เสียหายที่ 1 เพราะจดหมายซึ่งส่งบัตรเครดิตไปนั้น ย่อมต้องระบุชื่อและชื่อสกุลพร้อมทั้งที่อยู่ของผู้รับไว้ชัดเจน บุคคลอื่นย่อมไม่มีสิทธิในจดหมายและสิ่งของที่บรรจุในจดหมายดังกล่าว กรณีจึงมิใช่เป็นการส่งมอบบัตรเครดิตให้แก่จำเลยกับพวกโดยสำคัญตัวผิดว่าจำเลยกับพวกคือผู้เสียหายที่ 1 เมื่อจำเลยกับพวกรับบัตรเครดิตไว้และยึดถือเป็นของตนเองเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยทุจริต เป็นการแย่งการครอบครอง การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง และข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมบัตรเครดิตโดยให้พวกของจำเลยลงลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อด้านหลังบัตรเครดิตดังกล่าวเพื่อให้ผู้อื่นหรือประชาชนเข้าใจว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของผู้เสียหายที่ 1 และร่วมกันใช้บัตรเครดิตดังกล่าวโดยให้พวกของจำเลยลงลายมือชื่อในบันทึกรายการสินค้าเพื่อหลอกลวงให้นายอนุรักษ์เจ้าของร้านจ๊ะเอ๋ เซฮาโล หลงเชื่อยอมขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ราคา 7,100 บาท แก่จำเลยกับพวก และยอมให้จำเลยกับพวกชำระราคาโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยบัตรเครดิตดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอมและฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นตามฟ้องโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น เห็นว่า ความผิดฐานลักบัตรเครดิตเป็นความผิดสำเร็จในตัวโดยอาศัยเจตนาแยกต่างหากจากความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิใช้เอกสารสิทธิปลอม และฐานฉ้อโกง การกระทำตามฟ้องจึงเป็นความผิดสองกรรมแต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเป็น 2 กรรม ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยเป็น 2 กรรมได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 นอกจากนี้ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 7,100 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 นั้น เห็นว่าความผิดฐานฉ้อโกงกฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งคดีนี้คือนายอนุรักษ์ เจ้าของร้านจ๊ะเอ๋ เซฮาโล ส่วนผู้เสียหายที่ 2 ต้องจ่ายเงินให้แก่สถานที่รับบริการการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยกับพวกซื้อสินค้าแทนจำเลยกับพวกตามสัญญาที่ผู้เสียหายที่ 2 มีกับสถานที่รับบริการการใช้บัตรเครดิต เป็นความเสียหายที่ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับในทางแพ่ง ไม่ใช่ความเสียหายที่ได้รับจากการที่ถูกจำเลยกับพวกหลอกลวงหรือปกปิดข้อเท็จจริง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยตรงต่อสถานที่รับบริการการใช้บัตรเครดิต กรณีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 2 แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะต้องจ่ายเงินให้แก่สถานที่รับบริการใช้บัตรเครดิตก็ไม่ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจเรียกให้จำเลยคืนเงินแทนผู้เสียหายที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
อนึ่ง แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2547 กำหนดความผิดอาญาและอัตราโทษสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับบัตรและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้การปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้เพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 /1 ประกอบมาตรา 269/7 และกำหนดให้การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้เพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/4 วรรคแรก และวรรคสาม ประกอบมาตรา 269/1 และมาตรา 269/7 แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยไม่เป็นกรณีที่ต้องแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (7) วรรคแรก, 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265, 341 และ 342 (1) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 2 กระทง แต่ลงโทษจำเลยตามมาตรา 335 (7) วรรคแรก ได้เพียงกระทงเดียว ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน คำให้การและคำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 1 ปี ให้ยกคำขอให้จำเลยคืนเงิน 7,100 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2