คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4243/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ใบเสร็จรับเงินที่ออกในการรับชำระหนี้กู้ยืมเงินระบุแต่เพียงว่าได้รับเงิน โดยไม่ระบุแยกแยะว่าเป็นเงินอะไรบ้างการนำสืบความหมายของใบเสร็จดังกล่าวว่าเป็นการชำระต้นเงินและดอกเบี้ยอย่างใดสามารถทำได้ เพราะเป็นการสืบอธิบายข้อความในเอกสาร มิใช่สืบเปลี่ยนแปลงแก้ไข ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 162,955.80 บาทโดยจำนองที่ดินเป็นประกันและตกลงชำระดอกเบี้ย ทุกเดือนรวมต้นเงินอย่างต่ำเดือนละ 2,100 บาท จำเลยผิดนัดค้างชำระต้นเงินจำนวน 86,262 บาท และค้างชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่21 ธันวาคม 2525 เป็นต้นมา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์กับชำระค่าใช้จ่ายตามสัญญาร้อยละ 5ของมูลค่าจำนองจำนวน 8,147.80 บาทด้วย และจำเลยไม่ชำระขอให้นำทรัพย์จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้ศาลบังคับโจทก์ปลดจำนอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยชำระเงินแก่โจทก์รวม78 งวด คงค้างชำระต้นเงินจำนวน 86,262 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 50.36 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2525
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 86,262 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 10.36 บาท ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2525จนกว่าชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ แต่นับดอกเบี้ยถึงวันที่ 3 พฤษภาคม2532 ต้องไม่เกินกว่าจำนวน 57,686.88 บาท กับให้ชำระค่าเสียหายตามสัญญาจำนวน 8,147.80 บาท หากไม่ชำระให้ขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างชำระหนี้แก่โจทก์หากไม่พอชำระให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระจนครบถ้วนให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 162,955.80 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ10.36 ต่อปี ปัญหาในชั้นฎีกาที่ว่า จำเลยได้ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่นั้น เห็นว่าข้ออ้างของจำเลยที่ว่าได้ชำระหนี้ให้โจทก์หมดแล้วพยานจำเลยมีแต่คำเบิกความของจำเลยเท่านั้น ที่จำเลยอ้างใบเสร็จรับเงินชำระหนี้ในเรื่องนี้รวม 78 งวด และจำเลยเบิกความประกอบว่าการชำระเงินตั้งแต่ งวดที่ 7 เป็นต้นไป ใบเสร็จเหล่านี้เป็นหลักฐานการชำระต้นเงินอย่างเดียว ส่วนดอกเบี้ยในช่วงดังกล่าวนี้จำเลยชำระต่างหากนั้น ไม่มีหลักฐานใดสนับสนุน ฯลฯจำเลยรับว่าการชำระเงินตั้งแต่ งวดที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นการชำระดอกเบี้ยรวมกับต้นเงินซึ่งเป็นการปฏิบัติตามสัญญา การชำระตั้งแต่งวดที่ 7 ตลอดไปก็เป็นการปฏิบัติตามสัญญา แม้ว่าในงวดที่ 1ถึงที่ 6 ใบเสร็จรับเงินจะระบุรายละเอียดไว้ว่าชำระดอกเบี้ยและต้นเงินแต่ใบเสร็จรับเงินตั้งแต่ งวดที่ 7 เป็นต้นไประบุแต่เพียงว่าได้รับเงินโดยไม่ระบุแยกแยะว่าเป็นเงินอะไรบ้างเหมือนอย่างใบเสร็จรับเงินงวดที่ 1 ถึงที่ 6ก็เห็นว่าเป็นการชำระเงินที่จำเลยปฏิบัติตามสัญญาที่ไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขและไม่มีการโต้แย้งจึงน่าจะเป็นการชำระดอกเบี้ยและต้นเงินเหมือนอย่างงวดที่ 1 ถึงที่ 6 ส่วนโจทก์มีนางสาวสุกัญญามาเบิกความยืนยันว่าจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ใบเสร็จรับเงินตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2520 คือตั้งแต่ งวดที่ 7 เป็นต้นไประบุเพียงว่ามีการชำระเงินนั้นเป็นการชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเหตุที่ระบุเพียงว่ามีการชำระเงินก็เพื่อสะดวกในการลงบัญชีและการควบคุม นางสาวสุกัญญาเป็นสมุห์บัญชีของโจทก์ย่อมจะทราบเรื่องนี้ได้ดี ทั้งเบิกความสอดคล้องกับเหตุผลที่ควรจะเป็นดังที่ได้วินิจฉัยในตอนต้น คำเบิกความของนางสาวสุกัญญาจึงมีน้ำหนักดี และที่โจทก์นำสืบความหมายของใบเสร็จดังกล่าวก็สามารถทำได้เพราะเป็นการสืบอธิบายข้อความในเอกสารมิใช่สืบเปลี่ยนแปลงแก้ไข ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ตามที่จำเลยฎีกาพยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยยังค้างชำระเงินโจทก์ตามฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share