แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการโฆษณาให้เช่าพื้นที่โครงการของจำเลยระบุว่าให้มีสถานบริการประเภทร้านค้า ร้านอาหารและ สถานที่ออกกำลังกายภายในพื้นที่โครงการของจำเลย แสดงว่าโครงการของจำเลยมีเจตนาจัดให้มีสถานบริการเพื่อจูงใจให้ลูกค้าเข้าจองสิทธิและทำสัญญาเช่าพื้นที่ภายในศูนย์การค้ายูเนี่ยมมอลล์ในโครงการ การทำสัญญาเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าของโจทก์กับจำเลยจึงเกิดจากเจตนาของจำเลยที่เสนอจะจัดให้มีสถานบริการดังกล่าวในพื้นที่ตามที่จำเลยได้โฆษณาไว้และโจทก์แสดงเจตนาสนองรับเข้าทำสัญญาเช่าเพราะเชื่อตามที่จำเลยได้โฆษณา แม้ข้อความในสัญญาเช่าจะไม่ได้ระบุข้อความว่าจำเลยจะต้องจัดให้มีกิจการตามคำโฆษณาในศูนย์การค้าของจำเลยก็ตาม แต่จำเลยก็ต้องผูกพันและมีหน้าที่ต้องจัดให้มีกิจการตามคำโฆษณาในศูนย์การค้าของจำเลย คำโฆษณาของจำเลยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยด้วย เมื่อปรากฏว่าในวันเปิดศูนย์การค้าของจำเลย จำเลยยังดำเนินการจัดให้มีกิจการตามคำโฆษณาในศูนย์การค้าของจำเลยไม่ครบถ้วนตามที่โฆษณาไว้โดยไม่ปรากฏเหตุแห่งความล่าช้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย โดยโจทก์และจำเลยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 กระทำการภายในขอบอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดส่วนตัว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 209,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 206,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 209,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 206,000 บาท นับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโครงการศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยทั้งสองทำหนังสือโฆษณาเชิญชวนประชาชนโดยทั่วไปที่สนใจเข้าลงทุนเช่าพื้นที่เพื่อประกอบธุรกิจหรือค้าขายในศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ตามหนังสือโฆษณา เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์จองพื้นที่เพื่อประกอบการค้าในศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ของจำเลยที่ 1 ในราคาสิทธิการเช่า 201,000 บาท ชำระเงินจองไป 20,000 บาท และวันที่ 9 มีนาคม 2546 โจทก์ทำสัญญาผ่อนชำระสิทธิการเช่าพื้นที่ที่จองไว้ดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินวันทำสัญญาอีก 30,000 บาท ที่เหลือตกลงผ่อนชำระ 24 งวด โดยจำเลยที่ 1 ตกลงจะก่อสร้างอาคารศูนย์การค้าให้แล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่ให้โจทก์เข้าตกแต่งร้านภายใน 24 เดือนนับแต่วันทำสัญญา ทั้งนี้กำหนดเวลาดังกล่าวอาจขยายออกไปได้อีกไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันครบกำหนด หากพ้นกำหนดเวลาแล้วยังก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา จำเลยที่ 1 ยินยอมคืนเงินที่โจทก์ชำระไว้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ตามสัญญาผ่อนชำระสิทธิการเช่า ภายหลังทำสัญญาโจทก์ผ่อนชำระเงินค่าสิทธิการเช่าจนครบ ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2548 โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่กับจำเลยที่ 1 โดยเปลี่ยนพื้นที่ที่จองไว้จากเดิมเลขที่ บีดี – 16 เป็นเลขที่ บีเค – 07 ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 3,010 บาท ตกลงกำหนดเวลาเช่า 3 ปี นับแต่วันที่เปิดศูนย์การค้าอย่างเป็นทางการซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ตามสัญญาเช่า ภายหลังทำสัญญาโจทก์รับมอบพื้นที่เช่าแล้ว แต่โจทก์ไม่ตกแต่งร้านและไม่เปิดร้านค้าขาย จำเลยที่ 1 เปิดศูนย์การค้าอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 มีนาคม 2549 ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2549 จำเลยที่ 1 เรียกเก็บเงินค่าเช่าและค่าบริการส่วนกลางจากโจทก์ โจทก์ปฎิเสธโดยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าว่าจำเลยทั้งสองไม่สามารถก่อสร้างศูนย์การค้าให้เสร็จสมบูรณ์ได้ จึงขอเลิกสัญญาและให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าสิทธิการเช่าที่โจทก์ชำระไป ตามหนังสือบอกเลิกสัญญา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า การที่จำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำโฆษณามีผลทำให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คำโฆษณาไม่ได้เป็นสาระสำคัญที่ทำให้โจทก์ตัดสินใจเข้าทำสัญญาเช่ากับจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองไม่ต้องผูกพันตามแผ่นพับโฆษณา ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา เห็นว่า ในการโฆษณาให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ของจำเลยทั้งสอง โครงการของจำเลยทั้งสองจะมีสถานบริการดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าในโครงการยูเนี่ยนมอลล์นั้นจำเลยทั้งสองมีเจตนาจัดให้มีสถานบริการดังกล่าว เพื่อจูงใจให้ลูกค้าเข้าจองสิทธิและทำสัญญาเช่าพื้นที่ภายในศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ในโครงการดังกล่าว การทำสัญญาเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง มีเหตุผลให้เชื่อว่าเกิดจากเจตนาของจำเลยทั้งสองที่เสนอจะจัดให้มีสถานบริการดังกล่าว ในพื้นที่ศูนย์การค้าตามที่จำเลยทั้งสองได้โฆษณาไว้ และโจทก์แสดงเจตนาสนองรับเข้าทำสัญญาเช่าดังกล่าวก็เพราะเชื่อตามที่จำเลยทั้งสองได้โฆษณาไว้ดังกล่าวซึ่งจะทำให้ศูนย์การค้าดังกล่าวเป็นศูนย์การค้าที่ทันสมัยมีผู้คนไปจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก ทำให้โจทก์มีโอกาสที่จะจำหน่ายสินค้าของโจทก์ได้มากขึ้น คุ้มค่ากับการลงทุนเช่าพื้นที่ แม้ข้อความในสัญญาเช่าจะไม่ได้ระบุข้อความว่าจำเลยทั้งสองจะต้องจัดให้มีกิจการตามคำโฆษณาในศูนย์การค้าของจำเลยทั้งสองก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองก็ต้องผูกพันและมีหน้าที่ต้องจัดให้มีกิจการตามคำโฆษณาในศูนย์การค้าของจำเลยทั้งสองตามที่โฆษณาไว้ต่อโจทก์ คำโฆษณาของจำเลยทั้งสองนั้นถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองด้วย เมื่อปรากฏว่าในวันเปิดศูนย์การค้าของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองยังดำเนินการจัดให้มีกิจการตามคำโฆษณาในศูนย์การค้าของจำเลยทั้งสองไม่ครบถ้วนตามที่จำเลยทั้งสองได้โฆษณาไว้ โดยไม่ปรากฏเหตุแห่งความล่าช้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญาดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสอง โดยโจทก์และจำเลยทั้งสองคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อมามีว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดโดยส่วนตัวหรือไม่ ปัญหานี้แม้ไม่ได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 กระทำการภายในขอบอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดส่วนตัว
พิพากษายืน สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ