แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ขอเลื่อนคดีโดยแถลงยอมผูกมัดตนเองว่าหากนัดหน้าไม่ได้พยานมาก็จะไม่ติดใจสืบ ดังนี้ เมื่อถึงวันนัดโจทก์ยังไม่ได้ตัวพยานมาศาลอีกก็ต้องถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานปากนี้ตามที่เคยแถลงไว้ ไม่ว่าพยานจะได้รับหมายเรียกไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน และโจทก์ได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้โดยชอบแล้ว แม้การกำหนดหน้าที่นำสืบดังกล่าวจะไม่ชอบไม่ถูกต้องจริงหรือไม่ก็ตาม หากคู่ความได้สืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้ว และการกำหนดหน้าที่นำสืบดังกล่าวก็ไม่ทำให้เหตุผลแห่งการวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นได้ กรณีจึงไม่สมควรที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานใหม่
คดีมีประเด็นข้อพิพาทกันมาแต่ต้น โดยโจทก์สามารถนำพยานมาเบิกความต่อศาลได้ แต่ก็ไม่ได้นำมา การที่โจทก์ขอนำพยานดังกล่าวมาเบิกความหลังจากสืบพยานจำเลยเสร็จแล้ว ย่อมเป็นการเพิ่มเติมคดีของโจทก์ที่บกพร่องอยู่และพ้นเวลาที่โจทก์จะนำพยานเข้าสืบตามกฎหมายแล้ว จึงไม่สมควรอนุญาตให้โจทก์สืบพยาน
แม้ทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมและคำร้องขอจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมจะเป็นเอกสารมหาชน แต่คู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันก็นำพยานหลักฐานอื่นมาสืบหักล้างได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127
การได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถา โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 157 นั้น เป็นคนละเรื่องกับความรับผิดของคู่ความฝ่ายแพ้คดีที่จะต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา161 ดังนั้น แม้โจทก์จะได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถาแล้ว แต่ถ้าแพ้คดี ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องโดยศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า โจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนางสาวผัน ณ นคร และนางสาวผันได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้โจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิและไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก แต่ได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้วเบียดบังเอาค่าเช่าที่ดินและตึกแถวกับเงินกินเปล่าเป็นของตน โดยอ้างว่านางสาวผันทำพินัยกรรมไว้ให้ ความจริงพินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นเอกสารปลอม ขอให้พิพากษาว่าทรัพย์มรดกของนางสาวผัน ณ นคร มูลค่า 115,351,276.30 บาท เป็นของโจทก์ และให้ชดใช้เงินค่าเช่าที่ดินและตึกแถวกับเงินกินเปล่า 25,000,000 บาท ที่จำเลยนำเอาไปใช้ส่วนตัว กับค่าเช่าอีกเดือนละ 66,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดก
จำเลยให้การว่า โจทก์ปลอมทะเบียนรับบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกและปลอมพินัยกรรมฉบับที่โจทก์อ้าง โจทก์ไม่ใช่ทายาทของเจ้ามรดก จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้นำสืบโต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า นางสาวผัน ณ นคร เจ้ามรดก ไม่มีสามีและบุตรนางสาวผันถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2520 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร ต่อมามีนายอณิน ณ นคร โจทก์ และจำเลยต่างร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลแพ่ง ผลที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2525 ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียว
คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของโจทก์ว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานบุคคลคือนายพงศ์พรหม ไพศาลเวชกรรมนั้นเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนายพงศ์พรหมได้หลีกเลี่ยงไม่มาศาลทั้งๆ ที่โจทก์ได้ดำเนินการส่งหมายเรียกพยานให้แก่นายพงศ์พรหมโดยชอบแล้วและโจทก์ได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับพยานดังกล่าวแล้ว แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้ออกหมายจับให้ การที่ไม่ได้พยานปากนี้มาเบิกความต่อศาลจึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ พิเคราะห์แล้วปรากฏว่าทนายโจทก์เคยแถลงต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2526ว่า โจทก์ยังติดใจสืบพยานอีกปากหนึ่งคือนายพงศ์พรหมไพศาลเวชกรรม ซึ่งโจทก์ยังส่งหมายให้ไม่ได้ โดยพยานย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น และขณะนี้ตัวโจทก์ได้ไปตามพยานโจทก์ปากนี้แล้วแต่ยังไม่กลับมาจึงขอเลื่อนไปสืบพยานปากนี้ในนัดหน้าตามที่นัดไว้แล้ว ถ้านัดหน้าไม่ได้พยานปากนี้มาโจทก์ก็จะไม่ติดใจสืบอีก ครั้นถึงวันนัดปรากฏว่านายพงศ์พรหมไม่มาศาล ทนายโจทก์แถลงว่านายพงศ์พรหมรับหมายเรียกแล้ว แต่ไม่มาศาล หลักฐานการรับหมายเรียกอยู่ที่ตัวโจทก์ซึ่งไปตามพยานปากนี้และยังไม่มาศาลเช่นกัน ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับนายพงศ์พรหม จำเลยคัดค้าน ศาลชั้นต้นสั่งว่า โจทก์แถลงไว้แล้วว่าจะนำพยานมาสืบให้ได้ถ้าไม่ได้มาก็ไม่ติดใจสืบ ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าพยานโจทก์ดังกล่าวได้รับหมายเรียกไว้โดยชอบแล้วหรือไม่ จึงออกหมายจับไม่ได้ และถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบนายพงศ์พรหมโจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เห็นว่าเมื่อนายพงศ์พรหมไม่มาศาลในนัดแรกและโจทก์แถลงยอมผูกพันตนเองว่าหากนัดหน้าไม่ได้พยานปากนี้มา โจทก์ก็ไม่ติดใจสืบนั้นเมื่อปรากฏว่าถึงวันนัดโจทก์ยังไม่ได้ตัวนายพงศ์พรหมมาเบิกความต่อศาลอีก ก็ต้องถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานปากนี้ตามที่เคยแถลงไว้แล้วทั้งนี้ไม่ว่านายพงศ์พรหมจะได้รับหมายเรียกพยานไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาเป็นข้อที่สองว่า การที่โจทก์มีคำร้องขอให้ศาลสั่งเปลี่ยนหน้าที่นำสืบจากโจทก์นำสืบก่อนมาเป็นจำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อนนั้นโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นก่อนพิพากษาคดี กฎหมายไม่ได้ระบุหรือบังคับว่าจะต้องโต้แย้งเมื่อใด การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์เพิ่งจะมาคัดค้านเมื่อคดีเสร็จการพิจารณาแล้วจึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลชั้นต้น จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทและสั่งให้โจทก์นำสืบก่อนตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 นั้น แม้โจทก์ได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้แล้วก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาและการกำหนดหน้าที่นำสืบก่อนหลังของศาลชั้นต้นจะไม่ชอบไม่ถูกต้องจริงหรือไม่ก็ตามเมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายได้สืบพยานสิ้นกระแสความแล้ว กรณีหาควรที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานใหม่อีกไม่ เพราะไม่ทำให้เหตุผลแห่งการวินิจฉัยคดีนี้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาเป็นข้อที่สามว่า ควรให้โอกาสโจทก์นำพยานผู้เชี่ยวชาญมาสืบหักล้างการนำสืบพยานผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายจำเลยด้วย เพราะการที่โจทก์ไม่นำพยานผู้เชี่ยวชาญมาสืบเป็นความผิดพลาดของทนายโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เห็นว่ากรณีเป็นเรื่องที่โจทก์จะนำพยานผู้เชี่ยวชาญมาสืบว่าเอกสารที่พิสูจน์นั้นเป็นเอกสารที่แท้จริงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ได้พิพาทกันมาแต่ต้นแล้ว และโจทก์สามารถนำพยานผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความต่อศาลได้ แต่โจทก์ก็มิได้นำมาการที่โจทก์จะขอนำพยานผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความต่อศาลหลังจากที่จำเลยนำสืบพยานฝ่ายจำเลยเสร็จแล้ว ย่อมเป็นการเพิ่มเติมคดีของโจทก์ที่บกพร่องอยู่และพ้นเวลาที่โจทก์จะนำพยานเข้าสืบตามกฎหมายแล้ว ไม่สมควรอนุญาตให้โจทก์นำสืบพยานดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาเป็นข้อที่สี่ว่า ทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมและคำร้องขอจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเป็นเอกสารมหาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ไม่มีผู้ใดลบล้างได้การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์นำพยานบอกเล่ามาหักล้างเอกสารมหาชนเช่นนี้ย่อมเป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 บัญญัติว่า’เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น และเอกสารเอกชนที่มีคำพิพากษาแสดงว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน ต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร’ จำเลยจึงมีสิทธินำสืบหักล้างทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมและคำร้องขอจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาเป็นข้อที่ห้าและที่หกว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่านางสาวผัน ณ นคร ได้จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมและนางสาวผันได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่โจทก์ นั้น พิเคราะห์แล้ว…ฯลฯ…ข้อเท็จจริงไม่น่าเชื่อว่าคำร้องขอจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมกับหนังสือรับบุตรบุญธรรมที่โจทก์อ้างเป็นเอกสารที่แท้จริง โจทก์ไม่ใช่บุตรบุญธรรมของนางสาวผัน และพินัยกรรมฉบับที่โจทก์อ้างมีพิรุธ ลายมือชื่อของนางสาวผันในพินัยกรรมดังกล่าว ไม่ใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านางสาวผันได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้โจทก์
โจทก์ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถา จึงไม่จำต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา157 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 157 เป็นเรื่องบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถา ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลของบุคคลนั้นในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล แต่เรื่องความรับผิดของคู่ความฝ่ายที่แพ้คดีที่จะต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นมีบัญญัติไว้ในมาตรา 161 เป็นคนละกรณีกับมาตรา 157 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน.