คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3338/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กระดาษคราฟทหรือกระดาษคราฟทที่ทำเป็นลูกฟูกก็คือ กระดาษสีน้ำตาลที่มีความเหนียวมากกว่ากระดาษธรรมดาที่ใช้พิมพ์หนังสือหรือใช้ทำสมุดทั้งนี้เพราะกระดาษ คราฟทเป็นกระดาษที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ทำกล่อง ผิวกล่อง ถุงหลายชั้นหรือชั้นเดียว หรือใช้เป็นกระดาษสำหรับห่อสิ่งของหรือสินค้า ผลการตรวจสอบกระดาษตัวอย่างที่โจทก์ผลิตระบุว่า กระดาษที่โจทก์ผลิตเป็นกระดาษสำหรับทำผิวกล่อง (คือกระดาษคราฟทหรือกระดาษเหนียว) ตามที่กล่าวไว้ในมาตรฐานเลขที่มอก.170-2519 แต่มีคุณภาพด้านความเหนียวของกระดาษตัวอย่างต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรฐานเท่านั้น มิได้ปฏิเสธว่ามิใช่กระดาษคราฟท ดังนี้ต้องถือว่ากระดาษที่โจทก์ผลิตเป็นกระดาษคราฟทหรือกระดาษคราฟทที่ทำเป็นลูกฟูกดังที่กำหนดไว้ในบัญชีที่ 3 หมวด 5 สินค้าอื่น ๆ (1) ท้ายพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 54) พ.ศ.2517 โจทก์จึงได้ลดภาษีการค้าลงเหลือร้อยละ 1.5 ของรายรับ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตั้งโรงงานผลิตกระดาษคราฟท และกระดาษคราฟทที่ทำเป็นลูกฟูกเพื่อจำหน่าย เจ้าพนักงานประเมินอ้างว่ากระดาษคราฟทที่โจทก์ผลิตไม่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดไว้ ดังนั้นการที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการโดยชำระภาษีการค้า ในอัตราร้อยละ ๑.๕ ของรายรับตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่๕๔) พ.ศ. ๒๕๐๗ บัญชีที่ ๓ หมวด ๕ (๑) จึงไม่ถูกต้อง โจทก์จะต้องชำระภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๗ ของรายรับ โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้อง แต่มีเหตุควรผ่อนผัน จึงพิจารณาให้งดการเรียกเก็บเบี้ยปรับ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลพิพากษาว่าการชำระภาษีการค้าของโจทก์นั้นถูกต้องกับให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีจังหวัดคำวินิจฉัยและคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้อง
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจังหวัดปทุมธานีและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษีจังหวัดปทุมธานีตามเอกสารท้ายฟ้องนั้นชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ กระดาษที่โจทก์ผลิตออกจำหน่ายระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๖ นั้น มิใช่กระดาษคราฟทหรือกระดาษคราฟทที่ทำเป็นลูกฟูกตามที่ระบุไว้ในหมวด ๕ สินค้าอื่น ๆ (๑) ในบัญชีที่ ๓ ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่๕๔) พ.ศ. ๒๕๑๗ แต่กระดาษที่โจทก์ผลิตออกจำหน่ายเป็น ‘กระดาษทุกชนิด’ตามที่ระบุไว้ในหมวด ๘ ว่าด้วยสินค้าเบ็ดเตล็ด (๙) ในบัญชีที่ ๑ ท้ายพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่๕๔) ดังกล่าวซึ่งจะต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๗ ของรายรับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่มในรายรับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๒๐ ถึงเดือนมีนาคม ๒๕๒๖
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายฉบับใดให้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า ‘กระดาษคราฟทหรือกระดาษคราฟทที่ทำเป็นลูกฟูก’ ไว้ แม้กระทั่งในพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่๕๔) พ.ศ. ๒๕๑๗ อย่างไรก็ดี ปรากฏในบทนิยามของหนังสือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระดาษเหนียวตามเอกสารหมาย ล.๑ ว่า ‘กระดาษเหนียว (STRONG(ORKRAFT)PAPER) หมายถึงกระดาษที่ทำขึ้นจากเยื่อกระดาษฟอกหรือไม่ฟอกหรือใส่สีโดยมีคุณลักษณะที่ต้องการตามที่กำหนดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้’นอกจากนั้นปรากฏจากหนังสือของกรมวิทยาศาสตร์บริการที่ วทพ.๐๓๐๓/๑๐๗๗๐ ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๒๕ ตามเอกสารหมาย ล.๕ (แผ่นที่๑๑) กล่าวถึงกระดาษคราฟทไว้ว่า ‘โดยทั่วไปในท้องตลาดมักจะเรียกกระดาษสีน้ำตาลว่ากระดาษคราฟท’ ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่ากระดาษคราฟทหรือกระดาษคราฟทที่ทำเป็นลูกฟูกก็คือกระดาษสีน้ำตาลที่มีความเนียวมากกว่ากระดาษธรรมดาที่ใช้พิมพ์หนังสือหรือใช้ทำสมุดทั้งนี้เพราะกระดาษคราฟทเป็นกระดาษที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ทำกล่อง ผิวกล่อง ถุงหลายชั้น หรือชั้นเดียว หรือใช้เป็นกระดาษสำหรับห่อสิ่งของหรือสินค้านั่นเอง ในหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบกระดาษตัวอย่างที่โจทก์ผลิตตามหนังสือของกรมวิทยาศาสตร์บริการที่ วทพ.๑๓๐๒/๒๔๗๙ ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๒๒ ก็ระบุว่า กระดาษที่โจทก์ผลิตเป็นกระดาษสำหรับทำผิวกล่อง (คือกระดาษคราฟทหรือกระดาษเหนียว) ตามที่กล่าวในมาตรฐานเลขที่ มอก.๑๗๐-๒๕๑๙ หน้า ๘ ตารางที่ ๔ แต่มีคุณภาพด้านความเหนียวของกระดาษตัวอย่างนี้ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรฐานเท่านั้นมิได้ปฏิเสธว่ามิใช่กระดาษคราฟท และไม่มีความเหนียวดังที่จำเลยอุทธรณ์ ดังนั้นจึงต้องถือว่ากระดาษที่โจทก์ผลิตดังปรากฏตัวอย่างตามเอกสารหมาย จ.๘ ก็คือกระดาษคราฟทหรือกระดาษคราฟทที่ทำเป็นลูกฟูกที่กำหนดไว้ในบัญชีที่ ๓ หมวด ๕ สินค้าอื่น ๆ (๑) ท้ายพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๔) พ.ศ. ๒๕๑๗
เมื่อถือว่ากระดาษที่โจทก์ผลิตเป็นกระดาษคราฟทหรือกระดาษคราฟทที่ทำเป็นลูกฟูกตามที่กำหนดไว้ในบัญชีที่ ๓ หมวด ๕ สินค้าอื่น ๆ (๑) แล้วโจทก์จึงได้ลดภาษีการค้าลงเหลือร้อยละ ๑.๕ ของรายรับ ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่ากระดาษคราฟทหรือกระดาษคราฟที่ทำเป็นลูกฟูกที่โจทก์ผลิตนั้นจะได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เลขที่ มอก.๑๗๐-๒๕๑๙ หรือไม่ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน แม้แต่ทางฝ่ายจำเลยเองต่อมาภายหลังก็ได้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ ๑/๒๕๒๖ ว่ากระดาษคราฟทหรือกระดาษคราฟทที่ทำเป็นลูกฟูกหมายถึงกระดาษเหนียวชนิดต่าง ๆ รวม ๗ ชนิด ที่ใช้สำหรับทำถุงหลายชั้นหรือชั้นเดียว ทำหีบห่อ กล่อง หรือภาชนะสำหรับบรรจุซองหรือสินค้าโดยไม่คำนึงว่ากระดาษดังกล่าวจะมีคุณสมบัติดังที่กำไนดไว้ในมาตรฐาน มอก.๑๗๐-๒๕๑๙ หรือไม่ดังปรากฏตามเอกสาร หมาย จ.๑๐ เมื่อจำเลยยอมรับว่ากระดาษที่โจทก์ผลิตเป็นกระดาษคราฟทหรือกระดาษคราฟทที่ทำเป็นลูกฟูกตามบัญชีที่ ๓ หมวด ๕ สินค้าอื่น ๆ (๑) แล้ว การเสียภาษีการค้าย่อมจะต้องเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่๕) พ.ศ. ๒๕๑๗ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรไม่มีอำนาจที่จะกำหนดเป็นอย่างอื่น
สำหรับในข้อที่ว่ากระดาษคราฟทที่โจทก์ผลิตมิได้ผลิตจากเยื่อกระดาษ แต่ผลิตจากกล่องกระดาษคราฟทที่ใช้แล้วและเศษกระดาษนั้น เห็นว่ากระดาษคราฟทหรือกระดาษเหนียวตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมมิได้ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับคุณลักษณะอื่น ๆ อีกหลายประการ เช่น น้ำหนักมาตรฐาน ปริมาณความชื้นการต้านแรงดันทะลุ ฯลฯ ดังนั้นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไม่ว่าจะเป็นเยื่อกระดาษหรือเป็นกล่องกระดาษคราฟทที่ใช้แล้วหรือเศษกระดาษจึงมิใช่ข้อที่จะนำมาวินิจฉัยว่ากระดาษที่ผลิตเป็นกระดาษคราฟทหรือกระดาษคราฟทที่ทำเป็นลูกฟูกตามที่กำหนดไว้ในบัญชีที่ ๓ หมวด ๕ สินค้าอื่น ๆ (๑)ท้ายพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่๕๔) พ.ศ. ๒๕๑๗ หรือไม่ฉะนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๗ ของรายรับ โดยถือว่ากระดาษคราฟทที่โจทก์ผลิตไม่ได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเลขที่ มอก.๑๗๐-๒๕๑๙ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน.

Share